COVID-19

คุมเข้มลูกเรือต่างชาติ สกัดโควิดสายพันธุ์แอฟริกา ล่าสุดเจอเพิ่ม 2 ราย

สกัดโควิดสายพันธุ์แอฟริกา นายกฯ สั่งคุมเข้มลูกเรือต่างชาติ ล่าสุดตรวจพบอีก 2 ราย ตรวจคนเข้ามาในประเทศอย่างเข้มงวด

พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ( กอ.รมน.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมควบคุมโรค รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา (South African Variant) เป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งได้เดินทางกลับมาจากประเทศแทนซาเนีย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้สั่งการให้ สกัดโควิดสายพันธุ์แอฟริกา อย่างเข้มข้น

สกัดโควิดสายพันธุ์แอฟริกา

ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธ์แอฟริกา (South African Variant) ยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ในประเทศไทย โดยคงเป็นการตรวจพบ จากผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ในพื้นที่แถบแอฟริกา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อสั่งการของ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) โดยมอบหมายให้ หน่วยงานของ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเล บูรณาการประสานงานร่วมกับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ตรวจสอบพื้นที่ท่าเรือ, เรือสินค้า

พร้อมกันนี้ ยังรวมถึงลูกเรือ ที่เดินทางมาจากแถบพื้นที่แอฟริกา ในการผ่านเข้า-ออก ให้ครอบคลุมทุกช่องทาง เพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรอง โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจาก ประเทศกลุ่มเสี่ยง

ขณะเดียวกัน ขอให้ติดตามสถานการณ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้รับทราบในข้อมูลอย่างถูกต้อง ไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก พร้อมรณรงค์เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุข และข้อสั่งการ ของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) อย่างต่อเนื่อง และเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ในพื้นที่

รศ.นพ.โอภาส
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ

ด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวเสวนาในหัวข้อ โควิด-19 กลายพันธุ์มีความน่ากังวลแค่ไหน ที่จัดขึ้นโดย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ว่า ปัจจุบันโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ ด้วยปัจจัย เช่น ตัวไวรัส สิ่งมีชีวิต และการรักษา

การกลายพันธุ์ของไวรัส ยังมีผลทำให้เกิดการติดเชื้อ และการแพร่กระจายที่เร็วขึ้น และบางสายพันธุ์ อาจลดประสิทธิภาพการใช้วัคซีนลง เช่น สายพันธุ์ B.1.351 เจอในแอฟริกาใต้ ที่มีการกลายพันธุ์ด้านนอกไวรัส แต่มีการเพิ่มตำแหน่งกลายพันธุ์ที่สำคัญคือ E484K ที่อาจจะทำให้ ไวรัสมีการหนีภูมิคุ้มกัน ที่อาจจะเกิดจากวัคซีน

ดังนั้น คนที่ได้รับวัคซีนในพื้นที่ ที่มีการระบาดของไวรัสนี้อยู่ อาจจะลดประสิทธิภาพ การตอบสนองต่อวัคซีนในหลายตัว อย่างวัคซีนของ J&J, NANOVAX และ AstraZeneca/Oxford หรือ การป้องกันความรุนแรงของโรค

ล่าสุดเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา พบคนที่ผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธ์แอฟริกา B.1.351 จำนวน 3 ราย แบ่งเป็น 1 ราย เดินทางมาจากประเทศแทนซาเนีย และในวันนี้จะมีการรายงานพบอีก 2 ราย เป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ อยู่ระหว่างการรายงาน เข้าในระบบ รวมแล้วพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้แล้ว 3 คน ดังนั้นต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ให้สายพันธุ์นี้กระจาย

ส่วนสายพันธุ์ B.1.1.7 ที่พบในอังกฤษ ที่สามารถเกาะกับเซลล์ของมนุษย์ได้ดี ข้อมูลในห้องทดลองพบว่า จะสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ปกติถึง 40-70% มีส่วนเพิ่มอัตราการเสียชีวิต

ขณะที่สายพันธุ์ P.1 ที่พบในบราซิล หรือสายพันธุ์บราซิล กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลก เพราะมีผลต่อการควบคุมและการตอบสนองต่อวัคซีน

จากข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศ พบว่า ขณะนี้สายพันธุ์ B.1.1.7 จากอังกฤษ ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่าย ล่าสุดพบกลายพันธุ์อีกรอบ โดยพบความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ ที่เจอในแอฟริกาใต้

การป้องกันไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ในไทย คือ การตรวจคนเข้ามาในประเทศอย่างเข้มงวด การสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการระบาดในคน และการได้รับวัคซีน ที่อาจจะช่วยตัดวงจรไวรัสกลายพันธุ์ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo