COVID-19

เรียนออนไลน์ บทเรียนครู นักเรียน ผู้ปกครอง ปรับตัวร่วมกันช่วงโควิด

เรียนออนไลน์ ช่วงโควิด สกศ. ชี้เป็นบทเรียนครู นักเรียน ผู้ปกครอง ต้องปรับตัวร่วมกัน เตรียมพร้อมรับการเรียนรู้วิถีใหม่ในระยะยาว

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า สกศ. ได้วิจัยรูปแบบ การจัดการเรียนสำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก

เรียนออนไลน์ ช่วงโควิด

การวิจัยดังกล่าว จัดทำขึ้น ในช่วงการระบาดโควิด-19 รอบแรก ตั้งแต่เดือน มีนาคม – ธันวาคม 63 โดยเฉพาะ เรียนออนไลน์ ช่วงโควิด ที่ต้องใช้การเรียนแบบ ผสมผสาน

ทั้งนี้ จากการศึกษา พบสิ่งที่น่าสนใจ ทางการศึกษา 4 เรื่องสำคัญ ที่ควรถอดบทเรียน ถ่ายทอดสู่สาธารณะ เพื่อหาทางออกร่วมกัน อย่างตรงจุด โดยจากงานวิจัย พบว่า

  • ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอน เป็น กลไกสำคัญ ที่ต้องรู้จักเลือก การใช้รูปแบบการเรียน อย่างสอดคล้อง และยืดหยุ่น ตามความรุนแรง ของการระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ต้องสามารถผสมผสานทุกรูปแบบ ทั้งการเรียนในห้องปกติ (Onsite) ในพื้นที่ไม่มีการแพร่ระบาด  การสอนออนไลน์ (Online) สอนผ่านโทรทัศน์ทางไกล (On air) รวมทั้งการไปเยี่ยมบ้าน และกำหนดใบงานแก่นักเรียน (On hand) เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ ด้วยตนเองที่บ้าน

  • ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ต้องร่วมกันปรับตัว เพื่อให้สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์ที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน และกลับมาเรียนตามปกติ เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาด ลดความรุนแรงลง
อำนาจ วิชยานุวัติ
อำนาจ วิชยานุวัติ

ขณะที่ กระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่ครอบคลุมถึง การศึกษาทั้งระบบ ต้องปรับตัวให้สอดคล้อง กับรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น และเร่งจัดเตรียมงบประมาณ อุปกรณ์ให้แก่นักเรียน ที่มีความเสี่ยง ที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล เพราะไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัล และอินเทอร์เน็ตที่บ้าน หรือไม่มีไฟฟ้าใช้

พร้อมกันนี้ ควรใช้โอกาสนี้ เก็บข้อมูล เพื่อวางแผน ให้การสนับสนุนเพิ่มเติม แก่ครอบครัว ที่ผู้ปกครองไม่พร้อม สนับสนุนบุตรหลาน กรณีที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน ในช่วงโควิด 19

  • ต้องสร้างการสื่อสาร ทำความเข้าใจให้ตรงกัน ถึงนโยบาย และมาตรการสนับสนุน การเรียนรู้แก่บุตรหลาน ในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบ แนวทางที่ชัดเจน ของรัฐบาล ในการจัดการเรียนการสอน อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน

แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น อาจจัดทำคู่มือการใช้สื่อการเรียนรู้ วิธีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เพื่อเรียนออนไลน์ เป็นต้น

  • ผู้บริหาร ครู รวมถึงผู้ปกครอง ต้องการให้รัฐบาล มีแผนรองรับ การจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal Learning) โดยพร้อมประกาศใช้ อย่างทันสถานการณ์ ซึ่งทุกฝ่าย มีความเข้าใจระดับหนึ่ง ถึงการจัดการเรียนการสอน รูปแบบใหม่ ทั้งผ่านการสั่งงาน ผ่านโซเชียล มีเดีย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ผ่านการสอนออนไลน์ หรือให้ใบงานแก่นักเรียน

ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่เข้าถึงง่าย ในทุกพื้นที่ และจัดให้นักเรียนทุกคน สามารถเข้าถึงการศึกษา ได้อย่างเท่าเทียม แม้จะยังไม่มีวิธีการดีที่สุด และต้องพยายามช่วยกันทำให้ดีที่สุด เพื่อผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน ​

หลังจากนี้ จะสรุปข้อเสนอเชิงนโยบาย จากงานวิจัยนี้ รายงานต่อ ที่ประชุมสภาการศึกษา ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน เพื่อหารือเพิ่มเติม ถึงการปรับปรุงระบบการศึกษา และการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ปัจจุบัน ยังปิดโรงเรียน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด จึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบาย และมาตรการที่ชัดเจน เพื่อคุณภาพการศึกษา ที่มีต่อเนื่อง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo