COVID-19

‘อนุทิน’ ลบคำครหา แทงม้าตัวเดียว ลั่นไทยจะเป็นคอกม้า ผลิตวัคซีนป้อนภูมิภาค

“อนุทิน” ลบคำครหา แทงม้าตัวเดียว ไทยจะเป็นเจ้าของคอกม้า ผลิตวัคซีนให้ทั้งภูมิภาค เผยข่าวดี อภ. พร้อมเริ่มทดลองวัคซีนในมนุษย์ มีนาคมนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากคำครหาว่า รัฐบาลแทงม้าตัวเดียว กรณีจัดซื้อวัคซีนจาก แอสตราเซนเนกา เพียงบริษัทเดียวนั้น ในความเป็นจริง กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดต่อผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ แทบทุกรายในโลกนี้ เพื่อให้เพียงพอ ฉีดให้กับคนไทยทุกคน

10febอนุทิน

ทั้งนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดย องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับสถาบันวิจัยพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบัน path สหรัฐ ร่วมกันพัฒนา ตั้งแต่กลางปี 2563 โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มาผลิตวัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ได้ทดลองในสัตว์ทดลองเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มทดลองมนุษย์ ระยะที่ 1 ในเดือนมีนาคมนี้

จากนั้น เมื่อมีการวิจัยในมนุษย์ครบทั้ง 3 ระยะแล้ว ก็จะมีการขอขึ้นทะเบียนกับ อย. และจะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทย มีวัคซีนที่ใช้สำหรับภายในประเทศ และยังสามารถผลิตได้  สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน และในภูมิภาคอีกด้วย

“เมื่อบ้านเราสะอาด ประเทศเพื่อนบ้านสะอาด ก็จะเป็นการลดความเสี่ยง ในการติดเชื้อ และเป็นการลบคำครหาว่า แทงม้าตัวเดียว”นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทินกล่าวอีกว่า การผลิตวัคซีนได้เอง นอกจากจะลบคำครหา แทงม้าตัวเดียวแล้ว ยังทำให้ ประเทศไทย เป็นเจ้าของคอกม้าด้วย เพราะคนผลิตคือ องค์การเภสัชกรรม ซึ่งก็คือเป็นของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน

วัคซีนโควิดรพ.สนาม ๒๑๐๒๑๐

นอกจากการผลิตวัคซีนของ องค์การเภสัชกรรมแล้ว รัฐบาล โดย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ สำหรับการพัฒนาวิจัยวัคซีน ทั้งจากหน่วยงาน มหาวิทยาลัย รวมถึงภาคเอกชน ที่มีเทคโนโลยี ที่ได้รับการยอมรับได้ เป็นเทคโนโลยีที่มีความหวัง มีความเป็นไปได้สูง ในการจะพัฒนาให้เกิดผลสำเร็จได้

ในส่วนของการสั่งซื้อวัคซีน 63 ล้านโดส รัฐบาลไทย ได้ทำสัญญา หรือออกใบสั่งซื้อเรียบร้อยแล้ว การจัดส่งก็เป็นไปตามตารางเวลาที่กำหนด โดยในส่วนของ ซิโนแวค ที่มาจากจีน 2 ล้านโดส จะจัดส่งรอบแรก ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และเดือนมีนาคม 8 แสนโดส จากนั้นในเดือนพฤษภาคมอีก 1 ล้านโดส

หลังจากนั้น คาดว่า ภายในปลายเดือนพฤษภาคม หรือเดือนมิถุนายน ปีนี้ วัคซีนจาก แอสตราเซนเนกา ที่ผลิตโดย สยามไบโอไซเอนซ์ จะเริ่มทยอยส่งออกมาในล็อตแรก 26 ล้านโดส หากดูจากไทม์ไลน์แล้ว จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างมีความต่อเนื่องกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีน 26 ล้านโดส คิดแล้วไม่ถึง 1% ของคนไทยทั้งหมด ดังนั้น ประชาชนจึงยังต้องใช้วิถีชีวิตนิวนอร์มอล ต่อไป

แทงม้าตัวเดียว

ส่วนกรณี การขึ้นทะเบียนของ วัคซีนซิโนแวค นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเอกสารมากมายจากจีน และจีนได้ขึ้นทะเบียนซีโนแวค ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จึงคาดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาการขึ้นทะเบียน และจะสามารถขึ้นทะเบียนในไทย ได้ทันการเข้ามาล็อตแรก 2 แสนโดส จากนั้นจะตรวจสอบ เพื่อให้ฉีดได้ต้นเดือนมีนาคม

ที่สำคัญ คือ สิ่งที่ต้องดำเนินการไปคู่กัน คือ การฉีดวัคซีน กับการใส่หน้ากากอนามัย และใช้ชีวิตแบบ New Normal เพราะวัคซีนที่ดีที่สุด คือ หน้ากากอนามัย แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อหรือติดเชื้อโควิด

“ขอยืนยันว่า วัคซีนที่จะนำมาฉีดให้คนไทย ไม่มีอิทธิพลทางการเมือง และไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย”นายอนุทิน กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นี้ เป็นความร่วมมือกับสถาบัน PATH สหรัฐ ที่ส่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่พัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ที่ Mount Sinai ในนิวยอร์ค และมหาวิทยาลัยเท็กซัส มาให้องค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีน

แทงม้าตัวเดียว

หัวเชื้อไวรัสตั้งต้นดังกล่าว เกิดจากการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิล ให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อยู่ที่ผิว ซึ่งไวรัสที่ตัดแต่งพันธุกรรมนี้ไม่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 และสามารถเพิ่มจำนวนได้ในไข่ไก่ฟักเหมือนกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งสามารถใช้กระบวนการผลิตคล้ายกับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

การที่องค์การเภสัชกรรม มีโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตในไข่ไก่ฟักพร้อมอยู่แล้ว จึงมีศักยภาพในการรับไวรัสตั้งต้นดังกล่าวมาผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไปได้

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การฯ ได้ส่งวัคซีนไปทำการทดสอบความเป็นพิษในหนูแรท (rats) ที่ประเทศอินเดีย พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย และทดสอบประสิทธิภาพ ในหนูแฮมสเตอร์ ที่สหรัฐ ผลเบื้องต้นพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่พบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาได้ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ เพื่อใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิกต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo