COVID-19

ฟังให้ชัด! แจงปม ไม่จองวัคซีนโควิดผ่าน ‘โคแวกซ์’ เสี่ยงได้วัคซีนช้า ราคาสูง

ไม่จองวัคซีนโควิด ผ่านโคแวกซ์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แจงเงื่อนไขละเอียดยิบ ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง หมดสิทธิรับฟรี เสี่ยงได้วัคซีนช้า ราคาสูง

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่ไทย ไม่จองวัคซีนโควิด ผ่านโคแวกซ์  ว่า COVAX Facility (โคแวกซ์) เป็นโครงการประสานงานที่ถูกตั้งขึ้น มีเป้าหมายเพื่อแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน โดยในอาเซียน มีประเทศที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ไม่จองวัคซีนโควิด ผ่านโคแวกซ์

ส่วนประเทศไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรี หากจะเข้าร่วมโครงการต้องนำเงินไปร่วมลงขันในการจัดหา วัคซีนโควิด-19 ซึ่งประเทศไทย มีแผนร่วมจัดหา วัคซีนโควิด-19 กับโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น และได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วม ตั้งแต่ช่วงต้นของโครงการ

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในหลายด้าน เป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งด้านวิชาการ กฎหมาย การเงิน ขึ้นมาเพื่อพิจารณาเงื่อนไขการทำข้อตกลงกับโคแวกซ์ด้วย

สำหรับการทำข้อตกลงจอง วัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น การทำข้อตกลงผ่านโคแวกซ์ หรือการทำข้อตกลงโดยตรงกับผู้ผลิต จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูล และบริบทหลายด้านประกอบกัน เนื่องจากการตัดสินใจในการทำข้อตกลงจองวัคซีนในขณะนั้น อยู่บนความจริงที่ว่า วัคซีนโควิด-19 ของทุกบริษัท ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

ดังนั้น จึงยังไม่ทราบว่าวัคซีนชนิดใดจะประสบความสำเร็จ และยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีนที่มากเพียงพอ เสียเงินค่าจองไปแล้ว ก็อาจไม่ได้รับวัคซีน หากการพัฒนาล้มเหลว การตัดสินใจทำข้อตกลง จึงอยู่บนพื้นฐานของการชั่งน้ำหนัก ระหว่างประโยชน์ และความเสี่ยงที่ประเทศจะได้รับ หากทำการจองวัคซีน

นพ.นคร เปรมศรี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเงื่อนไขการจอง วัคซีนโควิด-19 ผ่านโคแวกซ์ พบว่า การจองจะต้องมี ค่าธรรมเนียมดำเนินการ โดยคิดเพิ่มจากราคาวัคซีน โดยการจองแบบ เลือกผู้ผลิตไม่ได้ มีค่าธรรมเนียม 1.6 USD /โดส ส่วนการจองแบบ เลือกผู้ผลิตได้ คิดค่าจองเพิ่ม 3.5 USD/โดส (รวมค่าธรรมเนียม 1.6 USD/โดส และค่าประกันความเสี่ยง 0.4 USD/โดส)

ทั้งนี้ แม้จะเลือกทำสัญญาจองซื้อ แบบเลือกผู้ผลิตได้ แต่ไม่มีอิสระในการเลือกที่แท้จริง โดยโคแวกซ์จะเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ 2 รอบ โดยรอบแรก โคแวกซ์จะเสนอรายชื่อผู้ผลิต ที่โคแวกซ์มีข้อตกลงแล้วมาให้ ซึ่งไม่ใช่รายชื่อผู้ผลิต ที่มีทั้งหมดในโลก หากผู้ซื้อไม่สนใจผู้ผลิต ในรายการที่เสนอ จะต้องรอการประกาศตัวเลือกในรอบต่อไป ทำให้ได้วัคซีนช้าลง

กรณีที่เลือกผู้ผลิต ที่มีชื่อในรายการ โคแวกซ์จะนำเงินที่ผู้ซื้อจ่าย ไปจอง วัคซีนโควิด-19 กับผู้ผลิตก่อน แล้วผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิเลือกในรอบที่ 2 ว่าจะทำสัญญากับผู้ผลิตรายนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าตัดสินใจไม่ทำสัญญา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ที่จ่ายไปแล้วทั้งหมด และไม่ได้เงินคืน แม้ว่าการเลิกสัญญา จะเกิดจากการพัฒนาวัคซีนไม่สำเร็จ

ขณะเดียวกัน การซื้อวัคซีน จะต้องซื้อตามราคาจริง จากผู้ผลิต โดยต้องยอมรับทุกเงื่อนไข ไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าขนส่งวัคซีน ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศ และภาษี เป็นต้น

จากเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบแล้ว พบว่า การทำความตกลงซื้อ วัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตโดยตรง มีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยสามารถกำหนดจำนวนวัคซีนที่จะซื้อได้ สามารถต่อรองราคาได้ หากซื้อเป็นจำนวนมาก ราคาก็ถูกลง และยังสามารถ ต่อรองเงื่อนไข ขอบเขตความรับผิดชอบ ได้ตามสมควร

การซื้อวัคซีน ผ่านโคแวกซ์ ยังกำหนดให้ซื้อขั้นต่ำ ไม่น้อยกว่า 10 % ของจำนวนประชากร หากต้องการวัคซีนรวดเร็ว ผู้ซื้อต้องยอมรับเงื่อนไข และความรับผิดชอบใด ๆ ก็ตาม ที่ผู้ผลิตเสนออีกด้วย

“ประเทศไทย ยังคงเจรจากับโคแวกซ์อย่างต่อเนื่อง และหากมีการปรับเงื่อนไข รวมถึงข้อเสนอ ที่ประเทศจะได้ประโยชน์ ก็อาจมีการทำข้อตกลง ผ่านโคแวกซ์ได้” นพ.นคร กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo