COVID-19

คลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้า กทม. ติดเชื้อเพิ่ม สธ.ห่วงกลุ่มเสี่ยงสูง ผู้ป่วยติดเตียง

คลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้า ใน กทม.ยังน่าห่วง สธ. เผย ระวังการติดเชื้อในครอบครัว หลังพบผู้ป่วยติดเตียง ติดโควิดจากผู้ดูแลชาวเมียนมา

น.พ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์​ ผู้อำนวยการ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในกรุงเทพมหานคร ยังต้องเฝ้าระวัง ในเขตกรุงเทพ ฝั่งตะวันตก ที่ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา จาก คลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้า  เขตภาษีเจริญ ที่กลายเป็นคลัสเตอร์ การระบาดในระลอกใหม่ ทำให้ต้องเฝ้าระวัง และค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

คลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้า

นอกจากนี้ ยังพบการเชื่อมโยงการระบาดในครอบครัว หรือในชุมชน โดยเคสล่าสุด คือ ผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีโรคประจำตัวเป็น ความดัน เบาหวาน คาดว่าติดเชื้อโควิด จากแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา เป็นผู้ดูแลผลัดกัน 4 คนอยู่ในบ้านเดียวกัน และมีประวัติเชื่อมโยงกับตลาดคลองเตย ที่เคยพบผู้ติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพิ่มเติม

ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำว่า การอยู่ในบ้านเดียวกัน ในครอบครัวเดียวกัน เราไม่ทราบว่าเราติดเชื้อหรือยัง การป้องกันตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะหากต้องอยู่ใกล้ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือหลอดเลือดในสมอง ต้องเน้นย้ำการดูแลตัวเอง ไม่ให้แพร่เชื้อต่อ

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์
นายแพทย์จักรรัฐ​ พิทยาวงศ์อานนท์

ทั้งนี้ ต้องให้ผู้ดูแล หรือผู้ใกล้ชิด ป้องกันตัวเอง โดยเว้นระยะห่างพอสมควร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยง ที่จะนำเชื้อโรคที่อาจรับจากข้างนอก เข้ามาสู่ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่บ้านได้ รวมถึงการร่วมรับประทานอาหารกันในครอบครัว ควรเว้นระยะห่าง เพื่อไม่เพิ่มความเสี่ยงเพิ่มเติม

การติดเชื้อในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคมถึง 3 กุมภาพันธ์ พบว่า เขตที่ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อมี 2 เขต, เขตที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันตั้งแต่ 7 วันที่ผ่านมา 31 เขต, เขตที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันในช่วง 5-6 วันที่ผ่านมา 5 เขต, เขตที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา 2 เขต และเขตที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาจำนวน 10 เขต

1 2

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 586 ราย มาจากต่างประเทศ 13 ราย​ เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 573 ราย​

ในส่วนของผู้ติดเชื้อในประเทศ 573 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก ในชุมชน โรงงาน สถานที่เสี่ยง 526 รายและมาจากระบบการเฝ้าระวัง และระบบบริการในโรงพยาบาล 47 ราย​ รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 22,644 ราย​ รักษาหายกลับบ้านแล้ว 15,331 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2272 รายและอยู่ในโรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 4962 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 79 ราย

เมื่อแยกเป็นรายจังหวัดในวันนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ มาจากจังหวัดสมุทรสาคร 548 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุก 522 รายและผู้ป่วยในระบบบริการ 26 ราย กรุงเทพฯ 18 ราย มาจากระบบบริการ ในโรงพยาบาลทั้งหมด และจังหวัดอื่น ๆ 7 ราย ได้แก่ เพชรบุรี 3 ราย ตาก 3 ราย และ สระแก้ว 1 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo