COVID-19

ประกาศแล้ว! มาตรฐาน การแพทย์ทางไกล คุมสถานพยาบาลเอกชน

มาตรฐาน การแพทย์ทางไกล สธ. ออกประกาศ มีผลใช้ตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 คุมสถานพยาบาลเอกชน ที่ให้บริการเทเลเมดิซีน ต้องขออนุญาต ช่วยลดสัมผัส หยุดโควิด

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศดูแลกำกับ มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาล โดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ. 2564 ในสถานพยาบาลเอกชน เพื่อสร้าง มาตรฐาน การแพทย์ทางไกล เพิ่มความสะดวก ในการรับบริการทางการแพทย์ที่ต่อเนื่อง สร้างระยะห่างระหว่างบุคคล ลดการเดินทาง และความแออัดในสถานพยาบาล ป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19

มาตรฐาน การแพทย์ทางไกล

ปัจจุบัน เทคโนโลยีในด้านการแพทย์ของประเทศไทย มีการพัฒนาเป็นอย่างมาก มีการนำระบบดิจิทัล (Digital) หรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) มาใช้อำนวยความสะดวกในการสื่อสาร ด้วยการส่งสัญญาณเสียงและภาพ เพื่อให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และให้คำปรึกษา ในการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วย

ทั้งนี้ การที่สถานพยาบาลเอกชน มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาให้บริการทางการแพทย์นั้น ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดระลอกใหม่ของโรค โควิด 19 การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลนับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโรค

นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วย หรือบุคคลใกล้ชิด ต้องเดินทางออกจากที่พัก มายังสถานพยาบาล ก็อาจทำให้เกิดความแออัด หรือสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการติดต่อ หรือแพร่กระจายโรคได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการแพทย์ประเภทใดก็ตาม จะต้องมีการดูแล กำกับมาตรฐานให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน

ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวก ในการรับบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง แก่ผู้ป่วยที่อาการไม่ซับซ้อน หรือต้องพบแพทย์เป็นประจำ รวมทั้งคุ้มครองความปลอดภัย ให้กับผู้รับบริการ ในสถานพยาบาลเอกชน กระทรวงสาธารณสุข

รักษาทางไกล

กรม สบส.จึงได้พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล และได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาล โดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชน ที่ประสงค์จะให้บริการ โดยระบบบริการการแพทย์ทางไกล ต้องยื่นแบบคำขอบริการเพิ่มเติมต่อผู้อนุญาต คือ อธิบดีกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่

สำหรับกรณีที่มีการให้บริการ การแพทย์ทางไกลอยู่แล้ว ให้ยื่นแบบคำขอบริการเพิ่มเติม ต่อผู้อนุญาตภายใน 90 วัน นับแต่ประกาศมีผลบังคับใช้ รวมทั้ง ผู้รับอนุญาต และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องจัดให้มีองค์ประกอบที่เหมาะสม ในการให้บริการ อาทิ

1. จัดให้มีแพทย์ให้บริกา รในจำนวนที่เพียงพอ ต่อการให้บริการโดยตรง โดยจะต้องไม่มีผลกระทบ ต่อการให้บริการหลักอื่น ๆ

2. จัดเตรียมแผน และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีที่สามารถสื่อสารระหว่างกันได้อย่างชัดเจน และมีมาตรฐานการรักษาความมั่นคง ด้านสารสนเทศ

3. มีการลงทะเบียน บันทึกข้อมูล รายงานผลการให้บริการ การตรวจสอบ และการยืนยันกระบวนการ การให้บริการทุกขั้นตอน

4. กำกับ และดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการประกอบวิชาชีพ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

5. มีการชี้แจงรายละเอียด ก่อนการให้บริการ ขั้นตอนปฏิบัติ ผลที่อาจเกิดขึ้น จากการให้บริการทุกด้าน และความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้รับบริการ ฯลฯ

หากมีการฝ่าฝืน จะมีการดำเนินการเอาผิด ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กับผู้รับอนุญาต หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งนอกจากจะช่วยคุ้มครองประชาชนแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่น ให้การตรวจ วินิจฉัย รักษาพยาบาล และป้องกันโรค ผ่านระบบดิจิทัล หรือเทเลเมดิซีน ของสถานพยาบาลไทย เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo