COVID-19

สธ. งัดกลยุทธ์ ‘Bubble and Seal’ คุมโควิด-19 โรงงานใหญ่ สมุทรสาคร

คุมโควิด-19 โรงงานใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร สธ. ชูกลยุทธ์ Bubble and Seal โรงงาน 7 แห่ง พนักงานรวม 50,083 คน พร้อมค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อติดตาม และร่วมวางแผนแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังพบจุดเสี่ยงสำคัญการติดเชื้อโควิด 19 อยู่ในโรงงานเป็นหลัก เพื่อ คุมโควิด-19 โรงงานใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร

คุมโควิด-19 โรงงานใหญ่

ทั้งนี้ ได้วางแนวทางบริหารจัดการ โดยใช้มาตรการทางสังคม และมาตรการองค์กร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกแบบกลยุทธ์เฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ใช้หลักการจัดการโควิด 19 ในโรงงาน อย่างมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) เพื่อควบคุมเชื้อ ไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก ซึ่งจะเน้นในโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน

สำหรับกลยุทธ์ Bubble and Seal มีเป้าหมายเพื่อ ลดความเสี่ยงในที่ทำงาน และที่อยู่อาศัย และลดความเสี่ยงของกลุ่มพนักงาน เพื่อควบคุมโรค ให้ได้ตามแผนที่วางไว้

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ได้ชี้แจงทำความเข้าใจ กับสถานประกอบการ เรื่องลักษณะที่พัก การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวันของพนักงาน ในสถานที่ทำงาน และมาตรการของโรงงาน ในการกำกับดูแล

3

จากการสำรวจโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า มี 7 โรงงานที่เข้าเกณฑ์จะดำเนินการ ตามหลักการ Bubble and Seal มีพนักงานรวม 50,083 คน ขณะนี้ 3 โรงงานเริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนอีก 4 โรงงานเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีที่พักให้กับพนักงาน จะประสานหาแนวทาง และปรับรูปแบบที่เหมาะสม ให้สามารถควบคุมโรคได้

ส่วนในโรงงานขนาดกลาง และขนาดเล็ก ยังคงใช้หลักการตรวจหาเชื้อเชิงรุก (Active Case Finding) โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อ จะนำออกมารักษาตามระบบ ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อ ให้ทำงานต่อได้

หลักการจัดการโควิด 19 ในโรงงาน อย่างมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) คือ Seal ใช้กับโรงงาน ที่พนักงานสามารถพักในโรงงานได้ เอื้อต่อการใช้มาตรการ คาดว่าใช้เวลา 28 วันจะสามารถควบคุมโรคได้

1

ขณะที Bubble ใช้กับโรงงาน ที่พนักงานพักอยู่นอกโรงงาน จะมีการควบคุมโรคที่ยากกว่า จึงขอความร่วมมือเจ้าของโรงงาน นำพนักงาน มาอยู่ในโรงงานให้มากขึ้น หรือจัดหาที่พักพนักงาน ให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด ควบคุมได้ เช่น หอพัก พร้อมให้โรงงาน เข้มมาตรการป้องกันโรค

นอกจากนี้ ได้ประสานฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง เข้าร่วมควบคุมพื้นที่ตามแผน ส่วนเรื่องการปิดโรงงาน จะดำเนินการเป็นวิธีสุดท้าย กรณีพบว่า เป็นแหล่งเพาะเชื้อ และไม่สามารถควบคุมโรคได้ จะประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อออกคำสั่งต่อไป

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับ จ.สมุทรสาคร ยังมีการค้นหาเชิงรุกในโรงงาน ชุมชน ตลาดและพื้นที่เสี่ยง อ.เมือง อ.กระทุ่มแบน และ อ.บ้านแพ้ว

นพ.เฉวตสรร3
นพ.เฉวตสรร นามวาท

ผลการค้นหาเชิงรุก ระหว่างวันที่ 25-30 มกราคม 2564 จำนวน 54,750 ราย พบผู้ติดเชื้อ 3,107 ราย และยังพบผู้ติดเชื้อแรงงานต่างด้าว มาขอรับบริการ ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ไม่ต้องรอการตรวจเชิงรุก เมื่อสงสัย หรือมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโควิด 19 สามารถไปรับบริการ ที่โรงพยาบาลได้เลย

ในส่วนของพื้นที่ จ.มหาสารคาม วันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ข้อมูลผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่ 27 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2564 พบผู้ติดเชื้อ 17 ราย ตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง 325 ราย และกักกันสังเกตอาการ อยู่ระหว่างสอบสวนโรค ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์โรคได้

อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสนาม หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo