COVID-19

ขึ้นทะเบียนแล้ว! วัคซีน ‘แอสตราเซเนกา’ ขอให้มั่นใจผ่านมือ อย. ต้องปลอดภัย

แอสตราเซเนกา อย.รับขึ้นทะเบียนเรียยร้อยแล้ว ยันคนไทยได้ใช้แน่ ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เล็งหาวัคซีนเพิ่ม รอซิโนแวค ที่อยู่ระหว่างขอจดทะเบียน อย.

นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เปิดเผยว่า ล่าสุด วัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนแน่นอน ล็อตแรก 26 ล้านโดส ภายใน 1-2 เดือนนี้ จากกำลังการผลิตของ แอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ในประเทศไทยมีกำลังการผลิตได้ 200 ล้านโดส

แอสตราเซเนกา

นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังเจรจาเพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถฉีดให้คนไทยตามเป้าหมาย 60-70% โดยขณะนี้ ซีโนแวค ผู้ผลิตวัคซีนจากประเทศจีน ก็อยู่ระหว่างการยื่นขอจดทะเบียนกับทาง อย. เช่นกัน

สำหรับข้อสงสัยว่า ทำไมต้องเป็น แอสตราเซเนกา นายแพทย์ทวี ชี้แจงว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกในการพิจารณาวัคซีน มาฉีดให้คนไทย คือ ความปลอดภัย การที่แอสตราเซเนกา สามารถขึ้นทะเบียน อย. ที่มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอย  สามารถยืนยันได้ถึงความปลอดภัย ในระดับที่ยอมรับได้ เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนตัวใด สมบูรณ์ 100% มีแต่ปลอดภัยในระดับที่สามารถยอมรับได้ ซึ่งต้องมากกว่า 50%

“กระบวนการทำงานของ อย. มีหลายขั้นตอน หลายฝ่ายในการพิจารณา ตั้งแต่โรงงาน การศึกษาวิจัย การทดลองในสัตว์ การทดลองในคลินิก หรือในมนุษย์ เอกสารที่แอสตราเซเนกา ส่งมากว่า 1.8 หมื่นหน้า ซึ่งมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ”

ส่วนการพิจารณาเลือกวัคซีนของไทยนั้น จะพิจารณาจาก 3 ประเด็นหลักคือ ความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วย ประสิทธิภาพที่ต้องยอมรับได้ และ ราคา ซึ่งแอสตราเซเนกา มีนโยบายชัดเจน ที่จะขายในราคาไม่เอากำไร แต่ไม่ควรขาดทุน เพื่อช่วยชาวโลก จึงขอให้คนไทยเชื่อมั่นในความปลอดภัย

“กรณีที่มีผู้คัดค้าน ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ที่มีผู้สงสัย ข้องใจ คัดค้าน ขอให้ทำใจร่มๆ อย่ารุ่มร้อน ทำใจให้เป็นธรรม ปล่อยวางบ้าง เพื่อคนไทย ทีมแพทย์เราทำงานหนักมาก และต้องทำความเข้าใจกับวัคซีน การทำงานของทีมงาน ก่อนที่จะคัดค้าน”นายแพทย์ทวีกล่าว

นพ.ทวี
นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า กลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีน จะเป็นกลุ่มที่อยู่ด่านหน้า โดยเฉพาะทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ฝ่ายความมั่นคง ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ตามด้วยกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว

สาเหตุที่เลือกฉีดวัคซีน ให้ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ก่อนคนวัยแรงงาน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทย มองว่า กลุ่มดังกล่าว หากติดเชื้อโควิด มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนหนุ่มสาวที่อาการไม่รุนแรง จึงต้องการลดอัตราการเสียชีวิต และการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากร

ก่อนหน้านี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้ องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ซื้อและเป็นตัวแทนจำหน่าย วัคซีนโควิด จากจีน เนื่องจากซิโนแวคไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย โดยจะทำเอกสารเพื่อยื่นขึ้นทะเบียน อย. ให้ได้ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ได้เห็นชอบสำรองงบประมาณ ในการสั่งซื้อไปก่อน 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประเทศไทย มีกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบทุกขั้นตอน คำนึงถึงเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก ผ่านการขึ้นทะเบียนทั้งต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ก่อนให้บริการประชาชน

สำหรับวัคซีนเร่งด่วน 2 ล้านโดส จากซิโนแวค ประเทศจีน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายแบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง หลังฉีดยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง คาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศจีนเร็ว ๆ นี้ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

ขณะที่ ประเทศจีน จะส่งวัคซีนมาถึงไทยภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ล็อตแรก 2 แสนโดส เดือนมีนาคมอีก 8 แสนโดส และเมษายนอีก 1 ล้านโดส หลังจากนั้นช่วงเดือนพฤษภาคม จะมีวัคซีนล็อตใหญ่ จากแอสตราเซเนกาอีก 26 ล้านโดส เพื่อกระจายให้ประชาชนต่อไป

จากนั้น เมื่อดำเนินการได้ดี จะเจรจาขอซื้อเพิ่มจากแอสตราเซเนกาอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส จะครอบคลุมประชาชนประมาณ 30 กว่าล้านคน จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันของประเทศไทยได้ เป็นเป้าหมายและแผนงานที่ดำเนินงานไว้ การดำเนินงานถือว่าก้าวหน้าเป็นไปตามแผน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo