COVID-19

‘อนุทิน’ ย้ำชัด ‘รักษาผู้ป่วยโควิด’ ทั้งหมด แต่ ‘คนทำผิดกฎหมาย’ ต้องจ่ายเอง

“อนุทิน” ย้ำ กระทรวงสาธารณสุขไม่ปฏิเสธรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เปิดกฎหมายระบุชัด ผู้นำเข้าโรคติดต่อ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง พร้อมชวนสังคมช่วยหาทางออก

จากกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ผู้มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย แล้วติดเชื้อโควิด-19 และกลุ่มผู้มีส่วนร่วมกับการกระทำผิด ต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอาการป่วยนั้น

IMG 20200302165409000000

วันนี้ (10 ม.ค.) นายอนุทิน ได้ชี้แจงเรื่องนี้ผานทางเฟซบุ๊ก “อนุทิน ชาญวีรกูล” ยืนยันว่า ภาครัฐไม่ปฏิเสธการรักษา แต่กฎหมายระบุชัดว่า ผู้ที่นำเข้ามาซึ่งโรค จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในขั้นตอนต่าง ๆ พร้อมขอให้ประชาชนช่วยกันคิดหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ โดยระบุว่า

ประเด็นชวนคิด

ผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าคนไทย หรือคนต่างชาติ ที่อยู่ในประเทศ ต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสาธารณสุข

“ไม่มีการปฏิเสธการรักษา” ย้ำตามนี้ ครับ

แต่ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา ผู้กระทำความผิด ละเมิดกฎหมาย ลักลอบข้ามแดน หรือ นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค มีกฎหมายบัญญัติไว้อยู่แล้ว

วันนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีภาระค่าใช้จ่าย ต้องตรวจรักษา ผู้ลักลอบข้ามแดน ทั้งคนไทยและคนต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งก็คือ งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน และ เงินกู้ ที่คนไทยต้องชดใช้ นั่นเอง

นี่คือ ประเด็นที่เสนอให้ช่วยกันคิด ครับ

สาระสำคัญ มาตรา 41 และ 42 ของกฎหมายโรคติดต่อ มีดังนี้

มาตรา 41 ให้เจ้าของพาหนะ หรือผู้ควบคุมพาหนะ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ในการขนส่งผู้เดินทาง ซึ่งมากับพาหนะนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งออกค่าใช้จ่าย ในการเลี้ยงดู รักษาพยาบาล ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามมาตรา 40 และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การกำหนดค่าใช้จ่าย ที่เกิดจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

มาตรา 42 ในกรณีที่พบว่า ผู้เดินทางเป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โรคระบาด หรือพาหนะนำโรค ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าว ถูกแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เดินทางผู้นั้นเป็น ผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

มาตรา 43 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ หรือโรคระบาด ให้อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจออกหนังสือรับรอง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคหรือการได้รับยาป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ หรือหนังสือรับรองอื่น ๆ ให้แก่ผู้ร้องขอ โดยผู้ร้องขอเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

การมอบหมาย การเรียกเก็บหรือการยกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo