COVID-19

ทำความรู้จัก ‘Hospitel’ ข้อแตกต่างจาก ‘โรงพยาบาลสนาม’ แต่สำคัญทั้งคู่

Hospitel กับ โรงพยาบาลสนาม กรมการแพทย์ เผยความแตกต่างชัดเจน แต่ความสำคัญไม่ต่างกัน เครื่องมือรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ขอประชาชนมั่นใจความปลอดภัย

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “กรมการแพทย์” ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจ และให้ประชาชนมั่นใจถึงความปลอดภัย และเปิดเผยถึงแนวทางการจัดตั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ที่มีความแตกต่างกัน แต่มีความสำคัญ ในการรับมือการกระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยระบุว่า

Hospitel

“Hospitel VS โรงพยาบาลสนาม

หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel)หรือฮอลพิทัล

  • ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5-7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอดคงที่
  • ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สามารถสื่อสารได้รู้เรื่องดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
  • ผู้ป่วยไม่มีไข้ กรณีมีโรคประจำตัว ต้องควบคุมอาการได้ดี
  • ต้องจัดยาให้พร้อม สำหรับให้ผู้ป่วยรับประทานด้วยตนเองจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
  • โรงพยาบาลต้นทาง ต้องยินดีรับผู้ป่วย กลับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง

โรงพยาบาลสนามหรือ Field hospital หรือ cohort center

  • เป็นการจัดตั้งที่พัก สำหรับการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ ในพื้นที่ที่มีการควบคุม
  • จะต้องมีการคัดกรอง ไม่รับกลุ่มที่มีอาการ หรือมีความเสี่ยง รวมถึงระบบส่งต่อกรณีที่ต้องการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน
  • มีระบบดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น และระบบสำคัญ ๆ ของ โรงพยาบาล โดยเฉพาะระบบการควบคุมการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการระบาด สู่บุคคลภายนอกและชุมชน

Hospitel

ทั้งนี้ Hospitel(ฮอสพิทัล) มาจากคำว่า Hospital บวกกับ Hotel คือ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง โดยปรับเปลี่ยนโรงแรม ให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ เพื่อให้ทางโรงพยาบาล สามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”

สำหรับโรงแรมที่ต้องการจัดตั้ง หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ จะต้องเตรียมการสถานที่ ดังต่อไปนี้

1. ในห้องพักไม่ควรมีพรม ผ้าม่าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

2. ทำการล็อกประตู และหน้าต่างระเบียงของห้อง เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

3. สำหรับระบบปรับอากาศดีที่สุด ควรจะเป็นแบบแยกห้อง หากเป็นแบบรวม ควรจัดแยกเป็นชั้น

4. มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน

5. ควรมีสัญญาณ wi-fi และโทรศัพท์ในทุกห้องเพื่อให้บุคลากรผู้ดูแล สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้

นอกจากนี้ โรงพยาบาลต้นทางที่ประสานจัดตั้ง หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID -19 จะต้องมีการจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ ไปประจำจุด หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ โดย หมอ พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล ควรมีสัดส่วน 3 คนต่อคนไข้ 100 คนเป็นอย่างน้อย

นอกจากนี้ ต้องทำการจัดอบรมบุคลากรของโรงแรม โดยทีมแพทย์ เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าพักรักษา และควรจัดเตรียมเครื่องมือแพทย์สำคัญ ได้แก่ thermometer เครื่องมือวัดไข้แบบอัตโนมัติ และ Oximeter เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือ ไว้ในทุกห้อง

การเข้าพักรักษาและสังเกตอาการ ในHospitel ผู้ป่วยจะต้องกักตัวอยู่เฉพาะในห้อง ยกเว้น การออกมารับอาหารที่หน้าห้อง ตามเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ผู้ป่วยจะต้องทำการวัดอุณหภูมิร่างกาย และวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือด้วยตนเอง และรายงานผล ให้พยาบาลผู้ดูแล ทราบตามเวลาที่กำหนด

ขณะที่ ระยะเวลาการเข้ารับการรักษา จะถูกแบ่งเป็น การรักษาที่โรงพยาบาลต้นทางก่อน อย่างน้อย 7 วันและเข้าพักรักษาสังเกตอาการ ในHospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID -19) ไม่น้อยกว่า 7 วัน

เมื่อผู้ป่วยนั้น ไม่มีอาการ ไข้ ไอ และตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงสามารถอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ โดยจะต้องทำการแยกกักตัว สังเกตอาการ (Self-Isolation) ภายในบ้าน อีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จนครบระยะเวลา 1 เดือน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo