COVID-19

มหาดไทย ออกสั่งด่วน ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ค้นหากลุ่มเสี่ยง โยงตลาดกุ้ง สมุทรสาคร

มหาดไทย ออกคำสั่งด่วน ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาคร เร่งค้นหากลุ่มเสี่ยง ที่เดินทางมาสมุทรสาคร ตั้งจุดสกัดเข้ม คุมเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 โดยมี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน กำหนดมาตรการควบคุมพื้นที่ และกำกับดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดย มหาดไทย ออกคำสั่งด่วน ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ให้ดำเนินการมาตรการป้องกันโควิด-19

มหาดไทย ออกคำสั่ง ผู้ว่าฯ

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการ และประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาคร) ถือปฏิบัติตามข้อสั่งการ และข้อเสนอแนะ โดยเคร่งครัด ได้แก่

1. จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร (สมุทรสงคราม นครปฐม และราชบุรี) และจังหวัดที่มีข้อมูลผู้ติดเชื้อหรือเดินทางเข้ามาในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดสมุทรสาคร เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี และสมุทรปราการ

สำหรับจังหวัดดังกล่าว ให้ค้นหาบุคคลในพื้นที่ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขาย สินค้าตลาดสัตว์น้ำ ในจังหวัดสมุทรสาคร ในกรณีจังหวัด ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ซึ่งใช้แรงงานต่างด้าว หรือแรงงานในประเทศ ให้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนความปลอดภัยด้านสาธารณสุข และดำเนินการตามมาตรการป้องกัน และควบคุมโรค ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ให้จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรองโรค โดยประสานการปฏิบัติกับ ตำรวจภูธรจังหวัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สกัดกั้นการเดินทางเข้า-ออก และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว และควบคุมคนไทย ที่เดินทางเข้า-ออกจากสมุทรสาคร ตามความจำเป็น

มหาดไทย 1

พร้อมกันนี้ ให้จัดเตรียมสถานที่กักกันตัว และเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือ และทรัพยากรทางการแพทย์ รองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้น

2. จังหวัดพื้นที่ชายแดน แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่

  • การปฏิบัติในพื้นที่ชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.) ประสานการปฏิบัติ วางมาตรการร่วมกับหน่วยทหารในพื้นที่ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ตำรวจตระเวนชายแดน กองกำลังป้องกันชายแดน เข้มงวด

ทั้งนี้เพื่อ ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้าย แรงงานต่างด้าว โดยตั้งเครื่องกีดขวาง เพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังและป้องกันมิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณพื้นที่ชายแดน หากพบการลักลอบเข้าประเทศ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น

  • การปฏิบัติในพื้นที่ตอนใน ให้ประสานการปฏิบัติกับตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจุดคัดกรองโรค บุคคล และการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าเมืองตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข กำหนดจุดรับ-ส่งสินค้าให้อยู่ในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด

พร้อมกำหนดให้มี ผู้บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Commander : IC) ประจำช่องทางผ่านแดนทุกแห่งที่มีการอนุญาตให้ใช้ในการผ่านเข้า-ออก ของบุคคล สินค้า และยานพาหนะ ที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติงานได้ 24 ชั่วโมง และควบคุมมิให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจนกว่าจะมีคำสั่งผ่อนคลาย

นอกจากนี้ ให้พิจารณาถึงความจำเป็น ในการควบคุม หรือระงับการเดินรถประจำทางสาธารณะ หรือรถไฟ ซึ่งอาจเป็นจุดเสี่ยง ในการแพร่ระบาดของโรค หากมีการระงับการเดินรถข้ามเขตจังหวัด ให้รายงาน ศบค.มท. เพื่อเสนอ ศบค. พิจารณา ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อวางมาตรการลดผลกระทบ ที่จะเกิดกับประชาชน

คัดกรอง1

3. ในทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาคร) ให้ตรวจสอบบุคคลที่มีความสัมพันธ์ และเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัตว์น้ำ ในตลาดสัตว์น้ำ จังหวัดสมุทรสาคร หากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ดำเนินการตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข และรายงาน ศบค.มท. ทราบทันที

ขณะเดียวกัน ให้ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง และกังวลว่า ตนเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทันที

สำหรับการปฏิบัติในพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ สำรวจ ตรวจสอบบุคคล ที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน ชุมชน และเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หากพบ ให้ดำเนินการตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข โดยอาจนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค

ในกรณีที่พบการละเมิด ให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายทันที รวมถึงให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับข้าราชการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มิให้ปล่อยปละละเลย หรือรู้เห็นเป็นใจในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการของ ศบค. หากฝ่าฝืนอาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางวินัยหรืออาญาด้วย

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ขอความร่วมมือ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ ผู้จัดกิจกรรม และผู้ร่วมกิจกรรม ในพื้นที่สาธารณะ ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ทำความสะอาดพื้นผิว และอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสบ่อย เว้นระยะห่าง หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่น และใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ ในการเข้าออกสถานที่สาธารณะ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo