COVID-19

ทำความรู้จัก ‘INFODEMIC ภัยพิบัติจากข่าวปลอม’ บิดเบือนข่าวสารโควิด-19

INFODEMIC ภัยพิบัติจากข่าวปลอม องค์การอนามัยโลก ระบุ เป็นการแพร่ระบาดของข้อมูล ในสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะข่าวสารที่บิดเบือน

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ Chulabhorn Royal Academy” ถึงปัญหาที่เกิดจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดหรือข่าวปลอมด้านสุขภาพ หรือ INFODEMIC ภัยพิบัติจากข่าวปลอม โดยระบุว่า

INFODEMIC ภัยพิบัติจากข่าวปลอม

“ปัญหาที่เกิดจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด หรือข่าวปลอมด้านสุขภาพ และความต้องการแหล่งที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้นั้น เกิดขึ้นมานานแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็น มหันตภัยในยุคที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่การสื่อสารไร้พรมแดน

โดยเห็นได้ชัดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการแพร่กระจาย ของข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล บนอินเทอร์เน็ต จนยากที่จะแยกแยะว่า ข้อมูลใดจริงข้อมูลใดเท็จ

กรมอนามัยโลก (WHO) บัญญัติศัพท์ เรียกปรากฏการณ์ แพร่ระบาดของข้อมูล ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ว่า “Infodemic” โดยรวมคำว่า “Information” ที่แปลว่าข้อมูล และ “Epidemic” หรือการระบาดเข้าด้วยกัน หมายถึง การระบาด ของข้อมูลข่าวสาร ที่ไม่ถูกต้อง หรือบิดเบือน เกี่ยวกับ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

การได้รับข้อมูลจำนวนมากจนเกินไป ทำให้ประชาชน คิดวิเคราะห์ แยกแยะ ข้อมูลเท็จจริงได้ยาก นอกจากนั้น การเผยแพร่ข้อมูลเท็จอย่างจงใจ โดยผู้ที่อ้างตน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเข้าถึงประชาชน ที่กำลังตื่นตระหนก ประกอบกับ การตอบสนองสถานการณ์ที่สับสน ของรัฐบาล และนักการเมือง ยังทำให้ประชาชนจำนวนมาก หันไปพึ่งพาเชื่อถือแหล่งข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย เพียงอย่างเดียว

สภาวะนี้ ทำให้ประชาชนยากที่จะสืบหาแหล่งข่าวทางการแพทย์ ที่เชื่อถือได้ และได้รับการรับรอง การเสพข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน และไม่ได้รับการยืนยัน จากแพทย์ เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้มีผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต เป็นจำนวนมากในสถานการณ์ดังกล่าว

ภัยพิบัติข่าวปลอม
ขอบคุณภาพจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบรุนแรง ไม่แตกต่างกันกับการแพร่ระบาดของไวรัส ผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จข่าวลวง จำนวนมหาศาลเหล่านี้ มักเป็นหน่วยงานทางการเมือง หรือ องค์กรปลอม ที่เชี่ยวชาญในการใช้กลวิธีร้ายกาจ ในการเผยแพร่ข่าว สามารถเปลี่ยนชื่อ เนื้อหาใจความ และความต้องการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อผลประโยชน์ด้านการเมืองและการเงิน โดยมักมองหาประชาชนที่อ่อนแอ เป็นเป้าหมาย
.
ข้อมูลเท็จนั้น จะแพร่ระบาดได้ ไม่ใช่เพราะการส่งต่อข้อมูล โดยไม่ตรวจสอบเท่านั้น ปัจจัยทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อให้การแพร่ข่าวปลอมง่ายขึ้น ก็มีส่วนสำคัญ

การรับมือกับ การระบาดของข้อมูลที่บิดเบือน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ร้ายแรง และมีผลต่อประชากรโลก เช่นเดียวกับโควิด-19 จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของรัฐบาล สื่อและองค์กรต่างๆ ในระดับโลก รวมถึงประชาชนทุกคน ที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ด้วยความรู้เกี่ยวกับ การใช้สื่อดิจิทัลและสุขภาพ

ดังนั้นก่อนที่จะแชร์ ควรคิดวิเคราะห์ หาแหล่งข้อมูลที่มั่นใจได้ มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงรองรับ เพราะทุกข้อความที่เผยแพร่ไปถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งสิ้น

ในส่วนของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้จัดทำ “เพจอาสาจับตาออนไลน์” ขึ้น เพื่อเป็นช่องทาง สร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน ในการแจ้งเบาะแส สื่อสังคมออนไลน์ และ เว็บไซต์ผิดกฎหมายเข้ามาแล้ว โดยจากการเปิดให้บริการ สัปดาห์แรกพบว่า มีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาแล้ว จำนวน 1050 รายการ (ยูอาร์แอล)

fake 1903823 1280

จากการตรวจสอบ ของ กระทรวง ดีอีเอส พบว่า เข้าข่ายซึ่งเป็นการดำเนินการกระทำความผิดตามกฎหมาย จำนวน 317 รายการ (ยูอาร์แอล) โดยหลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ รวบรวมหลักฐาน ได้ดำเนินการยื่นศาลขอปิดกั้น จำนวน 181 รายการ (ยูอาร์แอล) และศาลมีคำสั่งแล้วทั้ง 7 รายการ (ยูอาร์แอล)

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อกฎหมาย 101 รายการ (ยูอาร์แอล) และเป็นความผิดส่วนตน (หลอกลวง ถูกฉ้อโกง) จำนวน 35 รายการ (ยูอาร์แอล) (ให้คำปรึกษาประชาชนในการแจ้งความแล้ว)

ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เร่งรัดระบบรับเรื่อง ร้องเรียนสื่อออนไลน์ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น กระบวนการรวบรวม และตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ต้องเสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง แล้วส่งให้ศาลอนุมัติคำสั่ง เพื่อให้ทาง ตำรวจกองบังคับการ ปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และตำรวจที่เกี่ยวข้อง ไปตามจับผู้กระทำผิดได้โดยเร็ว ตลอดจนส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปิดเว็บ หรือลบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

ที่ผ่านมาเฉพาะครึ่งปีแรกของปี 2563 ได้รับแจ้ง 8,715 เว็บ ส่งศาลเพื่อออกคำสั่งไปแล้วทั้งสิ้น 7,164 เว็บ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo