COVID-19

เปิดราคาวัคซีนโควิดครั้งแรก! วช.คาดตกเข็มละ 620 บาท ต้องฉีด 2 เข็ม

สำนักงานการวิจัยของชาติ เปิดเผยผลวิเคราะห์ ราคาวัคซีนโควิด -19 เป็นครั้งแรก คาดน่าจะอยู่ที่เข็มละ 620 บาท ใกล้เคียงกับราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และต้องฉีด 2 เข็ม เชื่อน่าจะผลิตได้เพียงพอสำหรับคนจำนวนมากกลางปีหน้า 

วันนี้ (24 ก.ค.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยของชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงาน การติดตามความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ของทั่วโลกว่า วัคซีนแต่ละแบบ ที่กำลังทดสอบอยู่ในขณะนี้ ให้ผลที่ใกล้เคียงกัน

ราคาวัคซีนโควิด

ส่วนใหญ่จะเห็นผลว่า มีระดับภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอ หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2  ดังนั้นจึงคาดว่า จะต้องฉีดวัคซีนคนละ 2 ครั้ง ห่างกันหนึ่งเดือน และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ได้มีการเปิดเผยผลการเจรจาสำคัญ ที่บ่งบอกถึงแนวโน้มราคาของวัคซีน โดยรัฐบาลสหรัฐ ได้ตกลงสั่งซื้อวัคซีนที่บริษัทไบโอเอ็นเทค ของเยอรมนี พัฒนาร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ สหรัฐ เป็นการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า หากประสบความสำเร็จ

การจองดังกล่าว ระบุราคาของวัคซีนไว้เลย โดยสั่งซื้อวัคซีน  100 ล้านเข็ม สำหรับฉีดในคน 50 ล้านคน ที่ราคา 2,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับราคาเข็มละ 20 ดอลลาร์

“ประเมินกันตอนนี้ว่า ราคาวัคซีนโควิด -19 น่าจะอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ หรือ 620 บาท ฉีดคนละ 2 เข็ม เท่ากับค่าวัคซีน 1,240 บาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยการคาดการณ์ราคาวัคซีนออกมา เพราะก่อนหน้านี้ ที่มีการจองวัคซีนกันนั้น เป็นกึ่งการให้ทุนวิจัย แต่ไม่ได้ระบุราคาของวัคซีนเอาไว้  และราคานี้ ก็ใกล้เคียงกับราคาของวัคซีนไข้หวัดใหญ่” 

สำหรับ ช่วงเวลาที่น่าจะมีวัคซีนที่ใช้งานได้จริง โดยผ่านการทดสอบครบทุกขั้นตอน และผลิตได้ในปริมาณที่เพียงพอ สำหรับคนจำนวนมาก ที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกคาดการณ์กันไว้นั้น น่าจะเป็นในกลางปีหน้าเป็นต้นไป โดยในช่วงต้นปี 2564 จะเริ่มมีวัคซีนจำนวนหนึ่ง ที่พร้อมใช้ในคน แต่จะยังคงมีจำนวนจำกัด หลังจากนั้นจึงจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีวัคซีนจำนวนมาก เพียงพอกับความต้องการ

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ บอกด้วยว่า การประเมินเรื่องราคา และจำนวนที่ต้องฉีดดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ มีข้อมูลสำคัญ ที่น่าตื่นเต้นมาตลอดสัปดาห์ โดยมีรายงานผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่ให้ผลน่าพอใจ

โดยเฉพาะวัคซีนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนกา ประเทศอังกฤษ พัฒนาขึ้นมา และวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทแคนไซโน ประเทศจีน ซึ่งพบว่า วัคซีนทั้ง 2 แบบนี้ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในอาสาสมัคร และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง

วัคซีนโควิด ๒๐๐๗๒๑ 0

นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลการทดสอบวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา ของสหรัฐ ที่มีผลไปในทิศทางเดียวกันด้วย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ มีความมั่นใจมากขึ้นว่า จะสามารถพัฒนา และผลิตวัคซีนที่ใช้งานได้

ปัจจุบัน มีวัคซีนที่กำลังทดสอบในมนุษย์ ถึง 30 แบบ ซึ่งวัคซีนอย่างน้อยแบบใดแบบหนึ่ง หรือหลายๆ แบบน่าจะใช้งานได้ และการพัฒนาวัคซีนในช่วงต่อไป ก็จะเข้าสู่การทดสอบระยะที่ 3 ในประชากรจำนวนมาก เพื่อดูผลในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะได้รับการรับรองเพื่อใช้งานทั่วไป

การทดสอบในช่วงต่อไป จะติดตามว่า ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นนี้ จะอยู่ได้นานแค่ไหน รวมทั้งติดตามโดยละเอียด ในเรื่องความปลอดภัย ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ที่สำคัญจะต้องติดตามว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้น จะไม่ติดเชื้อโรค โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน เพราะในการทดสอบที่รายงานกันนี้ เป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการว่า มีระดับแอนติบอดี หรือมีภูมิคุ้มกันด้านเซลล์เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้ยืนยันว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น จะสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาติดตามพอสมควรเพื่อให้มั่นใจ และยังต้องเข้าสู่ ขั้นตอนการผลิต ให้เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างคู่ขนานกันทั้ง 3 แนวทาง

  • การพัฒนาวัคซีนในประเทศ
  • การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิควัคซีน ที่ผ่านการทดสอบแล้วจากต่างประเทศเพื่อให้ผลิตได้เพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศ
  • เตรียมจัดหาวัคซีนจากทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo