COVID-19

ไม่ปลอดภัย! คอนโดหรูปฏิเสธ สถานทูตขอส่งเจ้าหน้าที่กักตัว 14 วัน

คอนโดหรูย่านสุขุมวิท ให้เหตุผลด้านความปลอดภัยลูกบ้าน  ปฏิเสธ สถานทูตขอส่งเจ้าหน้าที่กักตัว ส่งเจ้าหน้าที่ทูตเข้าทำการกักตัว  14 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. วานนี้ (16 ก.ค.) ที่มิลเลนเนียม เรสซิเด้นส์ แอท สุขุมวิท คอนโดมิเนียม เจ้าหน้าที่ได้มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ กรณีสถานทูตเอสโตเนีย ส่งบุคคลจากสถานทูต 1 คน ขอเข้าพักในคอนโดมิเนียมดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการยินยอมจากฝ่ายอาคาร และนิติบุคคล โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ของลูกบ้านที่มีอยู่ถึง 604 ห้อง

สถานทูตขอส่งเจ้าหน้าที่กักตัว

นางนาตาชา รอยส์ รองประธานกรรมการ บริษัท พีพีเอ็ม จำกัด ซึ่งบริหารพื้นที่นิติบุคคลอาคารชุดมิลเลนเนียม เรสซิเด้นส์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันที่ 16 ก.ค. ได้รับการติดต่อจาก สถานทูต เอสโตเนีย แจ้งว่า สถานทูตขอส่งเจ้าหน้าที่กักตัว 14 วันที่คอนโดแห่งนี้ โดยมีการส่งเอกสาร การตรวจหาเชื้อโควิด ทั้งจากสถานทูตต้นทาง และที่สนามบินสุวรรณภูมิแจ้งมายังนิติบุคคล

“ทางนิติบุคคลได้พิจารณาแล้วยืนยันว่า ไม่อนุญาตให้บุคคลดังกล่าวเข้าพักเพื่อกักตัว เนื่องจากหากมีการติดเชื้อ อาจส่งผลกระทบกับลูกบ้านอีก 604 ห้อง ขณะเดียวกันห้องพักที่มีการเช่าไว้ เป็นการเช่าในนามบุคคล ไม่ใช่ในนาม สถานทูต จึงเจรจาขอให้ไปพักที่อื่น ซึ่งทางตัวแทนของสถานทูตไม่ยินยอม โดยอ้างเอกสิทธิ์ทางการทูตในการเข้าพัก ทางนิติบุคคลจึงประสานไปยังตำรวจ และ สำนักงานเขตคลองเตย ให้เข้ามาช่วยดูแลสถานการณ์หากเกิดความไม่พอใจของลูกบ้าน” นางนาตาชา กล่าว

นางนาตาชา กล่าวต่อว่าว่า ได้ประสานไปยัง ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อให้ช่วยประสานเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ได้รับการแจ้งให้ประสานไปยังสถานทูตเอง เนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างคอนโด และสถานทูต  ขณะที่ผู้อำนวยการเขตคลองเตยได้ลงมาช่วยให้คำปรึกษาและประสานงาน

เรื่องครั้งนี้ จบลงด้วยการที่ผู้แทน สถานทูต เอสโตเนีย ได้ประสานไปยัง กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้จัดสถานที่พักให้ และยินยอมที่จะย้ายไปพักยังสถานที่ที่กระทรวงการต่างประเทศจัดหาไว้ให้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้อำนวยการเขตคลองเตย ได้ทำการตรวจสอบ และขอให้ทางสถานทูตแจ้งกลับว่าไปพักที่ใดเพื่อให้สามารถติดตามได้หากพบการติดเชื้อในภายหลัง

การอ้าง “เอกสิทธิ์ทางการทูต”  ที่ สถานทูตขอส่งเจ้าหน้าที่กักตัว คืออะไร

เอกสิทธิ์ และความคุ้มกัน (Privilege & Immunity) หมายถึง สิทธิประโยชน์และความคุ้มกันจากการถูกบังคับตามกฎหมายบางประเภท ที่รัฐผู้รับให้แก่คณะผู้แทนทางการทูต ตัวแทนทางการทูต และเจ้าพนักงานกงสุลของรัฐผู้ส่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ ของคณะผู้แทนทางการทูต และเจ้าพนักงานกงสุลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสิทธิ์ และความคุ้มกัน ของตัวแทนทางการทูต และเจ้าพนักงานกงสุล จะเริ่มตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้น เข้ามาในอาณาเขต ของรัฐผู้รับในการเดินทาง ไปรับตำแหน่งของตน และเมื่อการทำหน้าที่ของตัวแทนทางการทูต และเจ้าพนักงานกงสุลยุติลง เอกสิทธิ์ และความคุ้มกันก็จะสิ้นสุดลง ขณะที่บุคคลนั้น ออกไปจากประเทศของรัฐผู้รับ

ทั้งนี้ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต และกงสุล มีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ซึ่งในปัจจุบันมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

  • อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ปี 2504
  • อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ปี 2506

สถานทูตขอส่งเจ้าหน้าที่กักตัว

ความคุ้มกันทางการทูต/กงศุล

  • สถานที่ของคณะผู้แทนจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ของคณะผู้แทน เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่นของคณะผู้แทนในสถานที่นั้น และพาหนะในการขนส่งของคณะผู้แทนจะได้รับความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การอายัด หรือการบังคับคดี
  • ตัวบุคคลของตัวแทนทางทูตจะถูกละเมิดมิได้ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ตัวบุคคลของตัวแทนทางการทูตจะถูกละเมิดมิได้ ตัวแทนทางการทุตจะไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในรูปใด ๆ ให้รัฐผู้รับปฏิบัติต่อตัวแทนทางการทูต ด้วยความเคารพตามสมควร และดำเนินการที่เหมาะสมทั้งมวล ที่จะป้องกันการประทุษร้ายใด ๆ ต่อตัวบุคคล เสรีภาพ หรือเกียรติของตัวแทนทางการทูต ตัวบุคคลของตัวแทนทางการทูต จะถูกละเมิดมิได้นั้น ได้ถือเป็นปัจจัยหลักในการที่ให้ผู้แทนทางการทูตได้รับสิทธิและความคุ้มกันทั้งมวล
  • ตัวแทนทางการทูต ได้ความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองของรัฐผู้รับ
  • สถานที่ทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ทางกงสุล และเครื่องเรือน ทรัพย์สิน และพาหนะของสถานทำการทางกงสุล จะได้รับความคุ้มกันจากการเรียกเกณฑ์ไม่ว่าในรูปแบบใด
  • เจ้าพนักงานกงสุลจะต้องไม่ถูกจับกุม หรือกักขังในระหว่างการดำเนินคดี เว้นแต่ในกรณีอาชญากรรมที่ร้ายแรง

เอกสิทธิ์ทางการทูต/กงศุล

  • ตัวแทนทางทูตจะได้รับยกเว้นจากค่าติดพัน และภาษีทั้งปวงของชาติ ของท้องถิ่น หรือ ของเทศบาล ในส่วนบุคคล หรือในทรัพย์สิน ยกเว้นค่าติดพัน และภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิด ที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาสินค้าหรือบริการแล้ว ค่าติดพันและภาษีจากเงินได้ส่วนตัวจากซึ่งแหล่งกำเนิดในรัฐผู้รับ และภาษีเก็บจากเงินทุนซึ่งได้ลงทุนประกอบการพาณิชย์ในรัฐผู้รับ
  • เจ้าพนักงานกงสุลจะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงของชาติ ท้องถิ่น หรือเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน ยกเว้นภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาของสินค้าหรือบริการแล้ว ภาษีอากรเก็บจากเงินได้ส่วนตัว รวมทั้ง ผลได้จากทุนซึ่งมีแหล่งที่มาในรัฐ

ผู้ที่ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูต / กงศุล

  • เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม
  • อัครราชทูต
  • อุปทูต
  • อัครราชทูตที่ปรึกษา
  • ที่ปรึกษา
  • เลขานุการเอก
  • เลขานุการโท
  • เลขานุการตรี
  • นายเวร
  • กงสุลใหญ่
  • กงสุล
  • รองกงสุล
  • กงสุลกิตติมศักดิ์

ที่มา : ข่าวสด , กระทรวงการต่างประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo