ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด คนไทยบริจาคเงินและสิ่งของจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือสังคม แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่า เจ้าพนักงานของรัฐ หรือ หน่วยงานของรัฐ สามารถรับทรัพย์สินหรือเงินบริจาคได้หรือไม่ เสี่ยงต่อการเข้าข่ายการทุจริตหรือเปล่า
“สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช.” ซึ่งทำงานด้านนี้โดยตรง จึงออกมาให้คำตอบ
เริ่มจากการนิยามของ “เงินบริจาค” ก่อน ป.ป.ช. หมายถึง เงินที่มีผู้มอบให้ส่วนราชการ เพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมของส่วนราชการ
ทั้งนี้ เจ้าพนักงานของรัฐรับเงินบริจาคได้หรือไม่
คำตอบคือ “ได้” ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐ รับในฐานะตัวแทนของหน่วยงานรัฐ และ หน่วยงานของรัฐนั้นมีกฎหมายให้รับได้
ตัวอย่างเช่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง รับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และเงินบริจาคเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับใช้ในการป้องกันโรคและรักษารผู้ป่วยโควิด-19
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นเจ้าพนักงานรัฐ รับบริจาคอุปกรณ์ทาการแพทย์และเงินบริจาค ในฐานะตัวแทนของโรงพยาบาล เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับใช้ในการปอ้งกันโรคและรักษาผู้ป่วยโควิด-19
กรณีนี้สามารถรับได้ เนื่องจากมีกฎหมายให้รับได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ. 2526 และระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเงินบริจาคและทรัพย์สินบริจาคของหน่วยงานบริการ พ.ศ. 2561
แต่พึงระวัง!! หากเจ้าพนักงานของรัฐ รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง ต้องดำเนินการให้ไม่ขัดกับ มาตรา 128 ตามหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘รพ.รามาธิบดี’ แจงดราม่าร้อน! หลังเพจดังโพสต์ว่อนขายรองเท้าบริจาค
- ‘อนุทิน’ ปัดสั่งห้าม ‘หมอเกรียงศักดิ์’ นั่งรักษาการผอ.ขอนแก่น ชี้เป็นเรื่อง ‘สปีริต’