COVID-19

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง ‘กลาโหม’ ย้ำอีกรอบ ไม่เคยขอข้อมูลตำแหน่งมือถือจาก กสทช.

ข้อมูลตำแหน่งมือถือ ประชาชน กลายเป็นเรื่องเผือกร้อน เมื่อ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาย้ำอีกรอบว่าไม่เคยทำหนังสือขอข้อมูลไปยัง กสทช.

ทั้งนี้หลังจาก เพจเฟซบุ๊ก “Wassana Nanuam” ได้โพสต์ข่าวระบุว่า “กลาโหม แจง ส่งเอกสารถึง กสทช. ขอ ตำแหน่ง ข้อมูลมือถือประชาชน จริง ยันใช้คุม โควิด-19 หวั่นระบาด ระลอก2 ..ยันยังไม่ได้เริ่มใช้ เพิ่งทดลองโปรแกรม หวั่น เกิดซ้ำรอย สนามมวย จะได้ติดตามตัว ได้ เผยใช้ประโยชน์ ในการสอบสวนโรค”

กลาโหมย้ำไม่เคยขอ ข้อมูลตำแหน่งมือถือ กสทช.
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์

เนื้อหาข่าวในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว เปิดเผยว่า พลเอก รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน (ผอ.สนผ.) กลาโหม กล่าวถึงกรณี นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เผยแพร่เอกสารของ สำนักนโยบายและแผน กลาโหม ที้ มีเนื้อหาระบุ การขอข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสนับสนุนการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า เอกสารนี้ เป็นเอกสารฉบับจริง แต่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค

เนื่องจากเราได้มีการพูดคุยในที่ประชุมวงเล็ก โดยเรียกฝ่ายทางเทคนิคของกระทรวงกลาโหม มาสอบถามว่า สามารถเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอติดตามสัญญาณโทรศัพท์ ของผู้ติดเชื้อโควิด19 และ ผู้ใกล้ชิดทั้งหมด โดยที่ประชุมได้ยกตัวอย่าง กรณีสนามมวย ที่มีคนเข้าร่วมชมมวย 2,800 คน แต่จากการสอบถามกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามมาได้เพียง 800 คน ส่วนที่เหลือไม่ยอมมาตรวจและไม่สามารถติดตามตัวได้

ทั้งนี้ หากเรารู้ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์ ทั้ง 2,800 คน ที่อยู่ในสนามมวย เราก็จะสามารถ ส่งข้อความไปแจ้งเตือนได้ทันที

วาสนา
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam

เราจึง เชิญผู้ประกอบการค่ายมือถือทั้ง 5 ค่าย โดยมี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เข้ามาควบคุมอีกชั้นหนึ่ง โดยการทำโปรแกรมดังกล่าว กรมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดำเนินการ

ในส่วนของกระทรวงกลาโหมถือว่าเป็นความหวังดี ที่บูรณาการจัดการประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ จนได้ข้อสรุปว่าสามารถทำได้ จึงดำเนินการทำหนังสือแจ้งไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค

ส่วนการที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ พลเอก รักศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงกลาโหม ไม่ได้นำข้อมูลของประชาชนไปทำอะไร เป็นเพียงการระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางการป้องกันการระบาดของโรค

ที่สำคัญโปรแกรมนี้ ยังไม่ได้บังคับใช้เพราะเพิ่งทำเสร็จเมื่อ 15 วันที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบของรายแรกอยู่ เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดของโรคในรอบสอง

พลเอก รักศักดิ์ กล่าวว่า สมมุติมีผู้ติดเชื้อ เดินทางโดยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปขึ้นรถสองแถว โดยบุคคลเหล่านั้น ไม่รู้จักผู้ติดเชื้อ โปรแกรมนี้ จะส่งข้อความไปบอกว่า บุคคลเหล่านั้น อยู่ในข่ายติดเชื้อโควิดฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวัง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ พลเอก รักศักดิ์ จะออกมาให้ข่าวผ่านเพจเฟซบุ๊ก ดังกล่าว พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถึงกรณี ขอข้อมูลตำแหน่งมือถือจาก กสทช.ว่า กรณีที่มีนักวิชาการเศรษฐศาสตร์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า กลาโหมทำเรื่องขอตำแหน่งมือถือของประชาชนโดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า ไม่เป็นความจริง ยืนยันว่า กระทรวงกลาโหมไม่เคยร้องขอ และไม่เคยได้รับข้อมูลจาก กสทช.

สำหรับหนังสือดังกล่าว เป็นเพียงหนังสือแจ้งผลการประชุมเพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการควบคุมโรค ซึ่งเดิมกลาโหมทำหน้าที่สนับสนุนสาธารณสุข (สธ.) ในการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และเอกชน

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวภาคเอกชน ที่เป็นบริษัทค่ายมือถือนั้นเสนอว่า เห็นควรให้นำการติดตามโทรศัพท์มาใช้ในการสอบสวนโรค ซึ่งมติในที่ประชุมก็เห็นด้วย กรมควบคุมโรค สธ. จึงได้ทำหนังสือไปยัง กสทช. ขอใช้ข้อมูล และยืนยันว่าเป็นไปตามหลักการควบคุมโรค และเก็บข้อมูลไว้ใช้เพื่อการสอบสวนโรคเท่านั้น ดังนั้นเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงกลาโหมไปร้องขอข้อมูลกับ กสทช. แต่อย่างใด โดยขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลให้ถูกต้องไม่นำเสนอข่าวโดยปราศจากข้อเท็จจริง

กลาโหมย้ำ

ล่าสุด พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม จึงออกมายืนยันอีกครั้ง ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “โฆษกกระทรวงกลาโหม” ว่า กลาโหมไม่เคยทำหนังสือไปถึง กสทช. ขอข้อมูลตำแหน่งมือถือประชาชน เพื่อการควบคุมป้องกันโรคโควิด- 19 ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้การให้ข้อมูลของ พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม เพียงกล่าวถึง ความร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน ที่ประชุมระดมความคิดเห็นแก้ปัญหาการแพร่ระบาดในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่มีอัตราผู้ติดเชื้อภายในประเทศสูงกว่า 100 คนที่ผ่านมา

โดยมีการพิจารณาถึงประโยชน์ของข้อมูลตำแหน่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือของผู้ติดเชื้อ เพื่อขยายผลการสอบสวนโรคกับผู้สัมผัสหรือใกล้ชิด ซึ่งสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ได้สรุปผลการประชุมถึงหน่วยงานต่างๆที่เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

พร้อมย้ำว่า กลาโหมไม่มีหน้าที่ในการดำเนินการกับข้อมูลโทรศัพท์มือถือประชาชน และไม่เคยขอ หรือได้รับข้อมูลดังกล่าว จาก กสทช.เพื่อการควบคุมโรคที่ผ่านมาแต่อย่างใด

Avatar photo