COVID-19

กทม. ไล่ตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 รอลุ้นผล 1,027 ราย

กรุงเทพมหานคร เผยผลตรวจเชิงรุก โควิด-19 เน้นกลุ่มเสี่ยงจาก 4,759 ราย ไม่พบเชื้อ 3,792 ราย รอลุ้นที่เหลือ 1,027 ราย

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานให้กรุงเทพมหานครปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง โดยตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก (Sentinel Surveillance) โดยเริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.63 ถึงวันที่ 3 มิ.ย.63

1

ทั้งนี้ ได้ส่งตรวจแล้วทั้งสิ้น 4,759 ราย ผลตรวจ ไม่พบเชื้อ 3,792 ราย และยังเหลืออยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,027 ราย

ขณะเดียวกัน กทม.ได้รับการสนับสนุนชุดทดสอบจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวนประมาณ 15,000 ชุด โดย กทม.กำชับให้สำนักอนามัยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำลายเพื่อนำส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ครบภายในวันที่ 20 มิ.ย. นี้

กลุ่มเสี่ยงที่กรุงเทพมหานครเข้าดำเนินการตรวจเชิงรุก ได้แก่

  • พระ นักบวช ศาสนา จำนวน 326 ราย
  • กลุ่มบุคลากรโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 209 ราย
  • กลุ่มคนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ 1,915 ราย ไม่พบเชื้อ 1,676 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 239 ราย
  • กลุ่มพนักงานไปรษณีย์และพนักงานส่งของ 620 ราย ไม่พบเชื้อ 555 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 65 ราย
  • บุคลากรกรุงเทพมหานครที่ปฏิบัติงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 163 ราย
  • ผู้ต้องกักในศูนย์กักตัว 254 ราย ไม่พบเชื้อ 124 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 130 ราย
  • กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร 124 ราย กลุ่มแรงงานก่อสร้าง จำนวน 852 ราย ไม่พบเชื้อ 259 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 593 ราย
  • หน่วยงานภาครัฐที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก 101 ราย
  • กลุ่มผู้ประกอบการในตลาด จำนวน 100 ราย
  • บุคลากรการแพทย์และอนามัย จำนวน 95 ราย

2

นอกจากนี้ จะตรวจให้คำแนะนำประชาชน รวมทั้งบุคลากรของหน่วยงาน สถานประกอบการที่เข้าไปเก็บตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อบุคคลดังกล่าวปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยที่กรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการรักษาระยะห่างส่วนบุคคล หมั่นล้างมือ หลังทำกิจกรรมต่างๆ กินร้อนช้อนส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านเพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

สำหรับกลุ่มประชากรเสี่ยง คือ กลุ่มคนที่อยู่รวมตัวกันจำนวนมากหรือทำงานที่มีความเสี่ยงในการพบปะผู้คนจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กำหนดให้สุ่มตรวจเพื่อติดตามเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ประกอบด้วย  1. กลุ่มพระ นักบวช และบุคลากรที่เกี่ยวกับศาสนา 2. กลุ่มบุคลากรโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 3. กลุ่มคนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ 4. กลุ่มพนักงานไปรษณีย์และพนักงานส่งของ

5. บุคลากรกรุงเทพมหานครที่ปฏิบัติงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 6. ผู้ต้องกักในศูนย์กักตัว 7. กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร 8. กลุ่มแรงงานก่อสร้าง 9. กลุ่มบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก 10. กลุ่มผู้ประกอบการในตลาด และ 11. บุคลากรการแพทย์และอนามัย

Avatar photo