COVID-19

‘ผ่อนคลายระยะ 3’ เช็คด่วน!! เปิดกิจการ-ทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง

รัฐบาลเดินหน้า ‘ผ่อนคลายระยะ 3’ ในมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังผ่อนปรนระยะ 2 ไปได้ 2 สัปดาห์ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เปิดทางให้ภาคธุรกิจ กลับมาเปิดกิจการได้มากขึ้น ขณะที่ประชาชนก็สามารถทำกิจกรรมได้มากขึ้น

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในประกาศ ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 9) มาตรการ ผ่อนคลายระยะ 3 มีความยาว 5 หน้า และได้นำเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา แล้ว

ข้อกำหนดใหม่นี้ เป็นการ ผ่อนคลายระยะ 3  ที่ปรับลดเวลาเคอร์ฟิวลง 1 ชม. จาก 22.00 น. เป็นเวลา  23.00 – 03.00 น.  โดยให้ข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 10 เมษายน  2563 ยังคงใช้บังคับต่อไป

นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้เคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดได้ โดยให้ยานพาหนะ ผู้โดยสาร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ ที่เป็นการขนส่งคน หรือสินค้าระหว่างจังหวัด ที่เริ่มออกเดินทางจากจังหวัดต้นทางก่อนเวลา 23.00 น. และถึงจังหวัดปลายทางหลังเวลา 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น สามารถเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในช่วงเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานได้

การผ่อนคลายระยะ 3 นี้ ยังเปิดทางให้ภาคธุรกิจ กลับมาเปิดกิจการได้มากขึ้น อาทิ การอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์ประชุมเปิดบริการได้ถึงเวลา 21.00 น.  ในขณะที่ประชาชนก็สามารถทำกิจกรรมได้มากขึ้น ประกอบไปด้วย

ผ่อนคลายระยะ 3 เปิดกิจการ-ทำกิจกรรม

กิจการและกิจกรรม ผ่อนคลายระยะ 3 ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต

  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 น.
  • ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการจัดประชุมแสดงสินค้า หรือจัดนิทรรศการได้ โดยจำกัดพื้นที่โดยรวมในการจัดงาน ไม่เกิน 20,000 ตารางเมตร และเปิดได้จนถึงเวลา 21.00 น. งดเว้นการจัดการแข่งขัน กิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือการดำเนินการอื่นใด ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาชุมนุมกันหนาแน่น และอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบได้
  • สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง ให้เปิดดำเนินการได้โดยงดเว้นการจัดกิจกรรม ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาชุมนุมกันหนาแน่นและอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบได้
  • ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมสำหรับบุรุษหรือสตรี เปิดดำเนินการโดยจำกัดเวลาการให้บริการในร้านไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมง และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน
  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน ให้เปิดได้เฉพาะการปฏิบัติงานที่จำเป็น ของเจ้าหน้าที่เพื่อการนัดหมาย จัดสรรและแจกจ่ายเครื่องดื่มและอาหารกลางวัน และการจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการ ป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

กิจการและกิจกรรม ผ่อนคลายระยะ 3 ด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ

  • คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สัก หรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
  • สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย (งดเว้นการอบตัว อบสมุนไพรหรืออบไอน้ำแบบรวม และการนวดบริเวณใบหน้า) นวดฝ่าเท้า ยกเว้นสถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
  • สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดจำนวนผู้เล่นในการเล่นแบบรวมกลุ่ม และงดเว้นการอบตัว หรืออบไอน้ำแบบรวม
  • สถานที่ฝึกซ้อมมวย โรงยิมหรือค่ายมวย เปิดได้เฉพาะเพื่อการฝึกซ้อมการชกลมโดยไม่มีคู่ชก การชกมวยแบบล่อเป้า โดยต้องไม่เป็นการแข่งขันและไม่มีผู้ชม
  • สนามกีฬา เปิดได้เฉพาะกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกายหรือการฝึกซ้อมในประเภทกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล โดยต้องไม่เป็นการแข่งขันและมีจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมที่อยู่ในบริเวณสนามกีฬา (ไม่นับรวมผู้เล่น) อีกไม่เกินสิบคน
  • สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ตหรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะเพื่อการออกกำลังกายหรือการฝึกซ้อม
  • สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ

ผ่อนคลายระยะ 3 เปิดกิจการ-ทำกิจกรรม

  • สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็ตสกี ไคท์เซิร์ฟ เครื่องเล่นประเภทบานาน่าโบ๊ท ให้เปิดดำเนินการได้โดยต้องไม่เป็นการแข่งขันและจำกัดจำนวนผู้เล่น
  • โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ ให้เปิดดำเนินการได้โดยจำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกินสองร้อยคน สำหรับโรงมหรสพในระยะแรกนี้ให้เปิดเฉพาะการจัดแสดงลิเก ลำตัดหรือการแสดงพื้นบ้านอื่น ๆ ก่อน โดยงดเว้นการจัดแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมอื่นที่อาจมีความเสี่ยงต่อการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและการแพร่กระจายเชื้อ
  • สวนสัตว์ หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมในพื้นที่จัดกำรแสดง ที่เป็นการรวมกลุ่ม

ประกาศระบุว่า การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งดำเนินการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลา ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตามที่ทางราชการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ และการดำเนินการ ของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด

หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีคำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีปัญหาว่าสถานที่ หรือกิจกรรมใดเข้าข่ายตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหรือไม่ ให้หารือคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)  ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 เป็นประธาน

Avatar photo