COVID-19

หวั่นเงินกู้ 1 ล้านล้าน ‘ไม่คุ้มค่า-ทุจริต’ แนะใช้โมเดล ‘มิยาซาวาแพลน’

องค์กรต้านโกง ห่วงเงินกู้ 1 ล้านล้าน ใช้ไม่เกิดประโยชน์ หวั่นคอร์รัปชั่นจัดซื้อจัดจ้าง แนะยึดโมเดล มิยาซาวาแพลน ตั้งกรรมการตรวจสอบ เปิดเว็บให้สาธารณชนร่วมดูแล

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การใช้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องดำเนินการให้รวดเร็ว ทันการณ์ จึงจะเกิดประโยชน์คุ้มค่า

คอร์รัปชัน

ทั้งนี้ มองว่า การใช้เงิน 4 แสนล้านจากเงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เป็นส่วนที่น่ากังวลที่สุด เพราะอาจนำไปใช้ทำโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า หรือเกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างได้

ดังนั้น จึงอยากให้ยึดโมเดลแบบ โครงการเงินกู้ยืมจากรัฐบาลญี่ปุ่น มิยาซาวาแพลน ปี 2542 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ โครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 ที่มีหลักเกณฑ์การใช้เงินชัดเจน และยังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจให้สาธารณชนสามารถเข้าไปศึกษาติดตามได้อย่างอิสระ

นอกจากนี้ ยังควรมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ คณะกรรมกำกับดูแลการจัดการและเบิกจ่ายเงิน ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมทั้งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ มีผู้แทนจากภาคประชาชนและนักวิชาการที่สังคมยอมรับ โดยกำหนดให้ทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ดำเนินการภายใต้กติกาเดียวกันอย่างเคร่งครัด

ประมนต์ สุธีวงศ์
ประมนต์ สุธีวงศ์

พร้อมกันนี้ ยังแนะนำให้จัดตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบอิสระ ที่ชำนาญและน่าเชื่อถือตรวจสอบการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หากผู้ใดทุจริต จะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง และรวดเร็วทุกกรณี

นายประมนต์กล่าวว่า ควรนำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 27 มีนาคม 2561 เรื่อง “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” มาบังคับใช้อย่างเข้มงวด และให้มีการรายงานข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ให้ปรับปรุงข้อมูลให้ทันการณ์ โดยเปิดเผยบนเว็บไซต์เฉพาะกิจ

Avatar photo