COVID-19

‘ตู้ปันสุข’ สะท้อนจิตสำนึกสังคม ‘แบ่งปันVSไม่รู้จักพอ’

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของไอเดียแบ่งปันยามทุกข์ยากจากวิกฤติโควิด-19 จนเกิด “ตู้ปันสุข” ที่มีจุดเริ่มต้น โครงการ “Free Pantry” ของต่างประเทศ โดย “สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร” ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด

จาก 5 ตู้ในช่วงแรก ล่าสุด ตู้ปันสุขได้แตกดอกออกผล มีแนวร่วมที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และมีกำลังพอที่จะร่วมแบ่งปันคนไทยด้วยกัน จนเกิดการตั้ง ตู้ปันสุขแล้วในแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีทั้งการนำรูปแบบตู้ปันสุขออริจินัลไปใช้ และการสร้างสรรค์ในรูปแบบตัวเองตามกำลัง เช่น ตั้งตู้กับข้าว ชั้นวางของ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ แบ่งปันคนไทยด้วยกัน

2 18

นั่นเพราะ เป้าหมายของ ตู้ปันสุข ก็เพื่อช่วยเหลือและแบ่งปันให้แก่คนที่ประสบปัญหาจากโรคระบาดโควิด-19 โดยมีแนวคิดง่ายๆว่า ให้คนที่มี แบ่งปันผู้ยากไร้ ด้วยการนำอาหารมาใส่ตู้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “ตู้กับข้าว” ริมทาง เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 และผู้ยากไร้ได้มาหยิบไปทาน

ภาพที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงเห็นทั้งคนที่พร้อมให้ และผู้ที่เต็มใจรับ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาที่ตู้ปันสุข เพื่อ “ให้” และ เพื่อ “รับ” ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของจุดเริ่มต้นโครงการ

เรียกได้ว่า น้ำใจคนไทยไม่เคยแห้งเหือดหายไปจริงๆ ถือเป็นเรื่องสวยงามสำหรับจิตใจในยามทุกข์ยากที่มีค่ามหาศาลเกินกว่าราคาของที่แบ่งปันมากนัก

10 78

แต่ทว่า ในความสวยงาม ยังมีความดำมืดซ่อนอยู่ เมื่อเกิดภาพแพร่บนโลกออนไลน์ กรณี พ่อลูกพากันมาขนของในตู้ปันสุขที่จังหวัดอุบลราชธานีจนแทบหมดตู้ ไม่เหลือเผื่อผู้อื่น ซึ่งถือว่าผิดเจตนารมณ์ของแนวคิดที่ต้องการ “แบ่งปัน” ไม่ใช่การ “กวาดเรียบ”

ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก มีอะไรบอกด้วย อุบลราชธานี โพสต์ข้อความระบุว่า

#คนอื่นเอาเยอะกว่าผมอีก

#เรื่องมันมีอยู่ว่า

1 5

 

วันนี้หนูเป็นคนนึงที่มีโอกาสได้ไปเติมของใส่ตู้ที่หน้าร้านสันติและหน้าพิพิธภัณฑ์อุบลค่ะ เมื่อไปถึงตู้หน้าพิพิธภัณฑ์ ไปเจอรถมอเตอร์ไซน์ 2 คัน พ่อและลูกชาย 3 คน มาหอบของในตู้จนหมดค่ะ คันพ่อเอาน้ำเปล่าใส่ตะกร้าหน้ารถจนเต็ม จนไม่สามารถใส่อะไรได้อีก และมีถุงพลาสติกใส่ไข่น่าจะ 1-2 ถาดค่ะ

ส่วนคันลูกชาย มีตระกร้าใบใหญ่ ใส่ของจนเต็มและเอาผ้าปิดบังไว้ ในตู้เหลือน้ำเปล่าแค่ 4-5 ขวดเอง คือเกลี้ยงตู้เลยค่ะ เลยลงรถไปถาม #พอลงรถคนพ่อขับหนีค่ะเลยถามลูกว่าไม่แบ่งคนอื่นเลยเหรอ #ลูกก็บอกว่าคนอื่นเอาเยอะกว่าผมอีก

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในวิกฤติที่สามารถสร้างความชุ่มชื่นใจจากน้ำใจที่เกิดขึ้น ยังมีความเห็นแก่ตัว ความไม่รู้จักพอ เป็นมุมมืดสร้างความรู้สึกเลวร้ายในสังคมไทย ทั้งที่ไม่ควรให้ความไม่รู้จักพอมาทำลายน้ำใจคนไทยด้วยกัน เพราะในเวลานี้ “จิตสำนึกสาธารณะ” และ “การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยาด้านจิตใจของคนไทยให้ผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก : มีอะไรบอกด้วย อุบลราชธานี

Avatar photo