COVID-19

1 ก.ค. เปิดเทอมแน่! ศธ. แจงยิบ ‘รูปแบบการสอน – สมัครสอบ ม.1,ม.4’ ยันทุกคนมีที่เรียน

วันนี้ (9 พ.ค.)  นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดเทอมของเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นการศึกษาว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยมีแนวทางจัดการเรียนการสอนทุกระดับชั้นการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะศึกษา การศึกษานอกระบบ การศึกษาให้คนพิการ และด้อยโอกาส

488649
รักขณา ตัณฑวุฑโฒ

กระทรวงจะต้องจัดการเรียนการสอนให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสดเท่าที่สภาพแวดล้อมจะอำนวยได้ ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจะอยู่บนพื้นฐาน 6 ข้อ

  • การจัดการเรียนการสอนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นการเปิดเทอม 1 กรกฎาคมนี้เปิดแน่นอน ไม่ว่าจะต้องเรียนที่บ้าน หรือไปเรียนที่โรงเรียน การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผลการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

  • อำนวยการให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ แม้จะไม่สามารถไปโรงเรียนได้
  • ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กสทช. จัดสรรช่อง ดิจิทัลทีวี ให้ 17 ช่อง เพื่อใช้ในการเรียนการสอน ถ้าวันที่ 1 กรกฎาคมยังไม่พร้อม ก็สามารถศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้ โดยเป็นช่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อนุบาล – ม.6 จำนวน 15 ช่อง และอาชีวะ 1 ช่อง กศน.1 ช่อง ดังนั้นทุกระดับชั้นสามารถเรียนได้

  • การตัดสินใจนโยบายต่างๆ โดยพิจารณาจากการสำรวจความต้องการทั้งจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและโรงเรียน

ให้จัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นที่ตั้ง โดยกระทรวงจะสนับสนุนเครื่องมือ และอุปกรณ์ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

  • ปรับปฏิทินการศึกษาเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนของเด็กมากขึ้น

ปรับตารางเรียนตามความเหมาะสม เวลาชดเชยก็จะคำนึงถึงภาระของทุกคน และการได้รับความรู้ครบตามช่วงวัยของเด็ก

  • บุคคลากรทางการศึกษาทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้น้อยที่สุด

stuu12

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยด้วยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ย้ำว่าการเลื่อนการเปิดเทอม ถือเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้า แต่ในอีกมุมหนึ่งต้องถือว่าวิกฤตินี้เป็นโอกาส เป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่จะได้ปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศ ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับการศึกษาของไทย

สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ ดังนั้น กระทรวงมี 3 คำคือ “ออนไซท์ ออนแอร์ ออนไลน์”

  • ออนไซท์

ถ้า 1 กรกฎาคม พื้นที่ปลอดภัยแล้ว สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย เข้าสู่สภาพปกติ นักเรียนไปเรียนตามปกติได้

  • ออนแอร์

ถ้าบางพื้นที่ที่ยังไม่ปลอดภัย ก็ต้องมีการจัดการเรียนการสอนทางไกลที่ทาง กสทช. จัดช่องสัญญาณดิจิทัลทีวีให้

  • ออนไลน์

รูปแบบการศึกษาทางกระทรวงได้กระจายอำนาจให้กับเขตพื้นที่ และสถานศึกษา ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมาคุยกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งบริบทการเรียนการสอนก็จะแตกต่างกันไป

นางรักขณา กล่าวต่อว่า นโยบายหลักที่นำมาใช้คือเพิ่มเวลาพัก ลดการประเมิน งดกิจกรรมต่างๆที่ไม่จำเป็น และเน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก เพื่อจะให้นักเรียนได้ผ่อนคลายลง และจะได้มีเวลาพัก

การเปิดภาคเรียนแรกจะอยู่ระหว่างวันที่  1 กรกฎาคม -13 พฤศจิกายน จากนั้น นักเรียนจะมีเวลาพัก 17 วัน ก่อนที่จะเปิดภาคเรียนที่ 2 คือวันที่ 1 ธันวาคม – 9 เมษายน หลังจบภาคเรียนนี้ นักเรียนจะมีเวลาพัก 37 วัน รวมทั้ง 2 เทอมนักเรียนมีเวลาพัก 54 วัน แล้วกลับเข้าสู่สภาพปกติของปีการศึกษาใหม่

ส่วนการเตรียมความพร้อมระบบออนไลน์ จะเริ่มทดสอบระบบต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมเป็นต้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดก่อนเปิดภาคเรียน 1 กรกฎาคม ในกรณีที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ทั้งเรียนออนไลน์ ออนแอร์ ครูไปพบนักเรียนที่บ้าน ซึ่งทั้งเขตการศึกษา สถานศึกษาและผู้ปกครองต้องมาคิดรูปแบบกันเพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

children 1822559 640

แนวทางการเรียนการสอน 4 ระยะ ของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

  • การเตรียมความพร้อมในช่วงระหว่าง 7 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563 

สำรวจความพร้อมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการจัดการการเรียนการสอน รวมถึงขออนุมัติการใช้ของโทรทัศน์ จากกสทช. รวมถึงเตรียมโครงการพื้นฐานด้านระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการให้บริการการเรียนรู้

  • การทดลองจัดการเรียนทางไกลตั้งแต่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563 

สำหรับระดับประถมวัย-ระดับการศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ทางไกล

  • การจัดการเรียนการสอน 1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564

วางแผนไว้ 2 สถานการณ์ หากโควิดยังไม่คลี่คลาย ก็ต้องจัดการเรียนการสอนระดับประถมวัยถึง มัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่านดีแอลทีวี ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลาย จะมีระบบการเรียนออนไลน์ และกรณีที่สถานการณ์คลี่คลายก็กลับมาเรียนตามปกติได้ แต่ยังต้องยึดแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข

  • การทดสอบและการศึกษาต่อ

ต้องประสานานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงอุดมศึกษาฯ  ถึงเรื่องการสอบแก็ตแพต การสอบทีแคต เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย การสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6

stuu

ทุกคนต้องมีที่เรียน

ในส่วนของปฏิทินรับสมัครนักเรียนนั้น  สพฐ.เริ่มรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 3 -12 พฤษภาคม และสอบคัดเลือกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 วันที่ 6 มิถุนายน  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 วันที่ 7 มิถุนายน จับฉลากในวันที่ 12 มิถุนายน โดยสอบในห้องเรียน แต่จะรักษามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

สำหรับการประกาศผลสอบนั้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะประกาศในวันที่ 10 มิถุนายน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประกาศวันที่ 11 มิถุนายน การรับรายงานตัวมอบตัวของนักเรียนทุกคน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รายงานตัว 12-13 มิถุนายน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 วันที่ 14 -15 มิถุนายน ดังนั้น ในวันที่ 16 มิถุนายน เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน

การเรียนระดับอาชีวะศึกษา ทั้งระดับปวช. ปวส. ปริญญาตรี แบ่งเป็น 4 รูปแบบ

  1. ผ่านเอกสาร ตำราเรียน แบ่งกลุ่มย่อย สลับกันมาเรียน
  2. ศึกษาทางไกล
  3. แบบออนไลน์
  4. ผ่านการสอนสด

ทุกรูปแบบต้องสอดคล้องกับการเรียนการสอน

Avatar photo