COVID-19

1 เดือน คนไทยไหลกลับ 3,381 ราย จาก 23 ประเทศ ระบุ State Quarantine กลไกสกัดแพร่เชื้อโควิด-19 นับหมื่น

1 เดือน คนไทยไหลกลับ 3,381 ราย จาก 23 ประเทศ ระบุ State Quarantine กลไกสำคัญลดการแพร่เชื้อโควิด-19  หลังรวบสถิติพบผู้ติดเชื้อระหว่างเข้าพัก 81 ราย  ระบุวันนี้ ( 2 พ.ค.) ยังมีคนไทยกลับอีก 220 ราย จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ และคาซัคสถาน 

ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 สถิติการติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ทะลุไปถึง 3,400,278 ราย ยอดสะสมผู้เสียชีวิตถึง 239,570 ราย หลายประเทศ มียอดติดเชื้อรายใหม่ต่อวันนับพัน ล่าสุดประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา “สิงคโปร์” ที่หลายคนยกให้เป็นแบบอย่างในตอนแรก ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 932 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งเป็น 17,101 ราย

ขณะที่ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงทุกวัน ต่ำสิบติดต่อกันมา 5 วัน ล่าสุด ( 1 พ.ค.) มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 6 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,960 ราย (ณ วันที่ 1 พ.ค.) สถานการณ์กำลังผ่อนคลาย รวมไปถึงบรรยากาศที่ดีที่เกิดขึ้นมาตลอด ในการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ รวมไปถึงการช่วยเหลือของคนไทยด้วยกัน บวกกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในฐานะเมืองเกษตร การเดินทางไหลกลับของคนไทย ที่ไปอยู่ตามประเทศต่างๆจึงปรากฎขึ้นทุกวัน เพราะ “ที่นี่ดีที่สุด” แล้ว

แต่การรับคนไทยกลับ “สู่แผ่นดินแม่” ก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะไม่รู้ว่าใครมีเชื้อติดเข้ามาบ้าง มาตรการรับคนไทยกลับจากต่างประเทศ แล้วกักตัวไว้สังเกตอาการ 14 วัน ในสถานที่ที่รัฐกำหนด หรือ State Quarantine จึงเป็นหัวใจที่สำคัญมาก ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ได้นับหมื่นราย ทำให้ประเทศไทย ต้องคงมาตรการนี้ต่อไป ไม่ให้มีใคร “หลุด” ไปแพร่เชื้อในชุมชน

ComeBack 01 1

ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่างอยู่ใน State Quarantine ถึง 81 รายจากผู้กักตัวสะสมทั้งหมด 4,218 ราย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุไว้ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่พบผู้ติดเชื้อในชาวต่างชาติที่เข้ามาจากต่างประเทศ แต่ยังมีคนไทยที่ป่วย หรือติดเชื้อในขณะที่ถูกกักตัวใน State Quarantine เป็นเวลา 14 วันภายหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และตุรกี ติดเชื้อรวม 81 ราย

State Quarantine 01

ดังนั้นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังป้องกันอย่างต่อเนื่องคือ สกัดกั้นการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี มีประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)  ให้ระงับเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศที่จะเข้าในประเทศไทยต่อถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 ถือเป็นการลดความเสี่ยงนำเข้าเชื้อ จากต่างประเทศต่อไป

ส่วนคนไทยที่ลงทะเบียนกับทางสถานทูตไทย และมีใบรับรองแพทย์ ยังทยอยเดินทางกลับมาประเทศไทย และเมื่อมาถึงแล้วต้องเข้าสู่มาตรการกักตัวใน State Quarantine เพื่อสังเกตอาการ 14 วัน โดยจะได้รับการดูแลสุขภาพ วัดไข้ ตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19

” มาตรการที่จะนำคนไทยกลับบ้าน หรือรับแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน กลับมาทำงานต้องรอบคอบ รัดกุม ยังคงต้องตรวจคัดกรอง หากพบมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ จะส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการจะกักตัวสังเกตอาการ ในสถานที่ ที่รัฐบาลจัดไว้ 14 วัน วัดไข้ทุกวัน และตรวจหาเชื้อโควิด 19 ก่อนให้กลับไปทำงาน และใช้ชีวิตตามปกติ “

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย หลังรัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการให้ประชาชนเริ่มกลับมาทำกิจกรรม และให้ผู้ประกอบการเริ่มเปิดกิจการได้บ้างในบางกิจการตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 จึงขอให้ทุกคนยังต้องรักษามาตรการป้องกันโรคที่เข้มข้นต่อไป รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยที่รัฐกำหนด

โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

1.จำนวนคนที่พบปะกันไม่ให้มีจำนวนมาก หรือหนาแน่นเกินไป

2. ระยะเวลาที่พูดคุยใกล้ชิดกัน ไม่ควรใช้เวลานานจนเกินไป

3.การป้องกันตัวไม่ให้แพร่เชื้อ และรับเชื้อ ทั้งการคัดกรองโรค สวมหน้ากาก ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว

หรือแม้กระทั่งการจัดที่นั่งรับประทานในร้านอาหาร ที่สามารถเปิดได้ ต้องเว้นระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงตามแนวทางที่กำหนด มาตรการเหล่านี้ต้องร่วมมือกันทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อเป็นชีวิตวิถีใหม่ในสังคมที่มีความปลอดภัย

report05 017

นพ.โสภณ ย้ำว่า  จากการศึกษาบทเรียนของต่างประเทศ ที่ใช้มาตรการผ่อนปรนพบว่า ก่อนที่จะผ่อนปรนผู้ป่วยเริ่มคงที่ ผู้ป่วยรายใหม่ 1 คนแพร่เชื้อได้ 0.7 ราย แต่หลังจากผ่อนปรนไป 2 สัปดาห์ พบว่าการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นคือ ผู้ป่วย 1 รายแพร่เชื้อได้ 1 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องติดตามเฝ้าระวังใกล้ชิดระยะ 2 สัปดาห์ หลังจากผ่อนปรนแล้ว เพื่อประเมินว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อปรับมาตรการให้เหมาะสม

จากการมีคนออกเดินทางหลังมีผู้ติดเชื้อลดลง โดยสถิติเมื่อวันที่ 30 เมษายน มีการเดินทางเข้าออกกทม.ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัวและรถสาธารณุ ถึง 962,398 รายเทียบเมื่อวันที่ 16 เมษายน 800,867 ราย หรือเพิ่มขึ้นเกือบแสนราย คิดเป็น 13.5% 

นพ.โสภณ ย้ำว่า ในวันหยุดยาวสัปดาห์หน้านี้ ขอย้ำว่าถ้ามีการรวมกลุ่มจำนวนมาก และมีการเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ จะมีความเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ ส่วนผู้ที่เดินทางขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด คือ สวมหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ ไม่รวมกลุ่ม เว้นระยะห่าง กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกห้องพักเมื่อไปถึงบ้าน ไม่กอดหรือใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนผู้ที่ไม่ได้เดินทางขอให้อยู่บ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

 

 

 

 

 

 

Avatar photo