COVID-19

‘สมคิด’ ดีเดย์ มิ.ย. นี้ ใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน พัฒนาท้องถิ่น

“สมคิด” เร่งทำแผนพัฒนาท้องถิ่น เสนอครม. กลางเดือนพฤษภาคมนี้ คาดใช้เงินกู้ 4 แสนล้านพัฒนาชนบทเดือนมิถุนายน ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลคาดว่าจะเงินเยียวยาให้กับกลุ่มต่าง ๆ ประมาณ 550,000 ล้านบาท

สมคิด

ดังนั้น หลังจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ในช่วง 3-6 เดือน ต้องหันมาเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่ออาศัยจังหวะนี้พัฒนาท้องถิ่นในต่างจังหวัด

ดังนั้น จึงได่สั่งการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกองทุนหมู่บ้าน มูลนิธิ เสนอจัดทำโครงการพัฒนาท้องถิ่น ประกอบด้วย 1.การพัฒนาอาชีพเกษตรดั้งเดิม 2.การพัฒนาแหล่งน้ำรองรับภาคเกษตรในชนบท 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวในชุมชน 4.การพัฒนาด้านการผลิต การตลาดออนไลน์ ขนส่งสินค้ากระจายจากชุมชนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ  5.การพัฒนาบุคลากร

“หากรัฐบาลตั้งรับปัญหาเศรษฐกิจ สร้างเงินหมุนเวียนได้ทัน ภาวะเศรษฐกิจต้นปีหน้าจะไม่หยุดชะงักหรือเสียหายมากเกินไป และยังรองรับปัญหาได้เมื่อมีงานทำ ทุกกิจกรรมกลับมาดำเนินการได้ทั้งในเมืองและชนบท”นายสมคิดกล่าว

fig 07 09 2019 07 10 26

ทั้งนี้ หลังจากกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำโครงการแล้ว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาประมาณกลางเดือนพฤษภาคม และคาดว่าการจัดโครงการขนาดเล็กจะลงไปพัฒนาท้องถิ่นได้ในต้นเดือนมิถุนายน เพื่อหวังให้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ช่วยพัฒนาชนบทให้เข้มแข็ง

“เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวพึ่งพาการส่งออกไม่ได้ การท่องเที่ยวไม่มีต่างชาติเดินทางเข้ามา จึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศผ่านโครงการระยะสั้น หลังจากเดือนตุลาคม 2563 จะใช้งบประมาณจากภาครัฐฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ในช่วงต่อไปผ่านเงินงบประมาณปกติของภาครัฐ”นายสมคิดกล่าว

ขณะเดียวกัน ประเมินว่าตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมจนถึงต้นปี 2564 เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นงบประมาณในปี 2564 ที่เคยจัดไว้ในโครงการขนาดใหญ่จะต้องปรับให้มีการจ้างงานมากขึ้น พร้อมทั้งมอบนโยบายสภาพัฒน์ เน้นความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการส่งออก และการลงทุนเป็นหลัก

Avatar photo