COVID-19

‘หมอเฉลิมชัย’ ฟันธง 3 แนวทางจบวิกฤติ ‘โควิด-19’ ลากยาวนับปี

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ผยแพร่บทความเรื่อง “COVID-19 จะยุติอย่างไร” ผ่านเฟซบุ๊ก “Chalermchai Boonyaleepun” โดยระบุว่า

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุด มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อวัน 4.02% ยอดผู้ติดเชื้อ 1.8 ล้านคน อัตราผู้เสียชีวิต 6.17% จำนวน 1.13 แสนคน ประเทศต่างๆ ได้ทำทุกวิถีทาง ทุ่มเททรัพยากรทุกอย่าง ขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยมาตรการต่างๆ โดยมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง แต่ดูเหมือนทุกคนจะมีคำถามเดียวกัน อยู่ในใจว่า เมื่อไรโรคจะยุติ? อยากทราบคำตอบที่ชัดเจน เพื่อจะได้วางแผนชีวิตได้อย่างถูกต้อง จะได้เตรียมตัวเตรียมใจว่าจะต้องอดทน มีวินัยและคิดบวกไปอีกนานเท่าใด

coronavirus 4991979 1280

วันนี้เราจะมาลองตอบคำถามนี้ดู โดยใช้ทั้งองค์ความรู้เดิมบวกกับความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากไวรัสใหม่ตัวนี้กัน

โรคระบาดจะยุติการระบาดลงได้ มีเพียง 3 รูปแบบเท่านั้น

1. ค้นพบวัคซีน แล้วฉีดวัคซีนให้กับประชากรโลกทุกคน (หรือส่วนใหญ่)

2. ติดเชื้อจนคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน หรือเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

3. ไวรัสก่อโรคหายสาปสูญไปจากโลก อาจจะโดยการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือเหตุอื่นที่มนุษย์คาดไม่ถึง

แล้วทั้ง 3 รูปแบบนี้ จะเกิดขึ้นได้เมื่อไรบ้าง คงตอบว่าไม่น่าจะเร็วกว่า 12 เดือน อาจใช้เวลาหลายปีก็เป็นได้

เฉลิมชัย
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

แล้วถ้าทั้ง 3 รูปแบบยังไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ มนุษย์เราจะทำอย่างไร เราจะดำรงชีวิตอยู่อย่างไร จะเรียนหนังสือ จะทำมาหากิน จะไปมาหาสู่กันได้อย่างไร

คำตอบก็คือ แต่ละประเทศต้องทำให้การระบาดของโลกสงบลงชั่วคราว ด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องขนาดของประเทศ จำนวนประชากร สภาพภูมิอากาศ วินัย ความรู้ความเข้าใจ ความพร้อมของระบบสาธารณสุข อาชีพ-รายได้-เงินออมของคนในชาติ ระบบสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมากหรือไม่มีเลย (แต่อาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ) จนประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้บ้าง แต่คงไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้ทั้งหมด เช่น คงจะเดินทางไปมาระหว่างประเทศลำบาก ไม่ว่าจะไปทำงานหรือไปท่องเที่ยว การติดต่อต่างๆ ภายในประเทศต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่อีก เพราะยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่และมีผู้ติดเชื้อ ที่ไม่มีอาการแต่พร้อมจะแพร่เชื้ออีกด้วย

รอให้เกิดการยุติแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งใน 3 รูปแบบ ดังกล่าวข้างต้น โดยถ้าโชคดีมีการคิดค้นยารักษาโรคได้ ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตกิจวัตรประจำวัน ของมนุษย์มีความผ่อนคลายมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำได้เต็มที่เหมือนการยุติแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะยาไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ เพียงแต่ลดความรุนแรงหรือลดอัตราการเสียชีวิตลงเท่านั้น

สรุปได้ตามแผนภาพข้างล่างนี้ครับ

โควิด3แบบ

Avatar photo