COVID-19

กรมวิทย์ ยืนยัน ‘ไม่มีงบพันล้าน’ ทำโครงการ ‘1 จังหวัด 1 แล็บ’ ย้ำโปร่งใส เดินหน้าขยายต่อ

กรมวิทย์ ปฏิเสธ “ไม่มีงบพันล้าน” ทำโครงการ “1 จังหวัด- 1 แล็บ-100 ห้องปฏิบัติการ” ยืนยันตั้งมาเกือบ 100 แห่ง ใช้แต่งบของหน่วยงาน และไม่มีทุจริต 30-40% เรียกร้องสื่อบางสำนัก รายงานข้อเท็จจริง อย่าทำประชาชนสับสน ทำเจ้าหน้าที่ท้อแท้ ย้ำห้องแล็บตั้งที่รพ.สต.ไม่ได้ เหตุเครื่องมือต้องพร้อม และมีนักเทคนิคการแพทย์ที่เชี่ยวชาญประจำ พร้อมต้องมีไบโอเซฟตี้ เดินหน้าพัฒนาอีก 49 แล็บ ภายในเดือนนี้ ตั้งเป้าตรวจ 20,000 ตัวอย่าง/วัน

918904 1

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และข้อสั่งการของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้กรมฯขยายขีดความสามารถห้องปฏิบัติการ ในทุกจังหวัด และกทม. โดยให้มีความพร้อมตรวจได้ทั่วถึง ตั้งเป้าตรวจได้อย่างน้อย 20,000 ตัวอย่างต่อวัน ตามโครงการ “1 จังหวัด 1 แล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ” ซึ่งเป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

และยังมีระบบการจับคู่ห้องปฏิบัติการกับโรงพยาบาลต้นสังกัด เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบออนไลน์กับกรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลที่ส่งตรวจ ทำให้การรับส่งเชื้อรวดเร็ว รายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ช่วยให้การป้องกันควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

download 8 e1586790564289

โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ 93 แห่ง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข 46 แห่ง ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 23 แห่ง กรมฯ 15 แห่ง และอื่นๆ 8 แห่ง และของภาคเอกชน 28 แห่ง มหาวิทยาลัย และภาครัฐอื่นๆ 19 แห่ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – 10 เมษายน 2563 ห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 100,498 ตัวอย่าง เฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 4 – 10 เมษายน 2563 ตรวจได้ 16,490 ตัวอย่าง

130463 รายงานจำนวนแล็บพีซีอาร์ Page 03

ทั้งนี้ ภายในเดือนเมษายนนี้ จะมีห้องปฏิบัติการเปิดเพิ่มอีก 49 แห่ง ตามโครงการ “1 จังหวัด 1 แล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ” ทำให้ทั่วประเทศมีห้องปฏิบัติการทั้งหมด 142 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น ภาคใต้ ในเขตสุขภาพที่ 11 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 9 แห่ง ได้แก่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.วชิระภูเก็ต รพ.สิชล รพ.ระนอง รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ รพ.ทักษิณ รพ.หลังสวน รพ.พังงา รพ.กระบี่ จากเดิมที่มี 4 แห่ง

และเขตสุขภาพที่ 12 เตรียมเปิดที่รพ.นราธิวาส ปัตตานี รพ.สตูล และตรัง เพิ่มจากเดิมที่มี 5 แห่ง สนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (Active Finding Case) ในพื้นที่ทำได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในการดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กรมฯใช้เครื่องมือที่มีอยู่เดิม และน้ำยาตรวจกรมฯก็ได้พัฒนาวิธีการตรวจขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อชุดตรวจสำเร็จรูป จากภาคเอกชน ส่วนโรงพยาบาลในต่างจังหวัดมีทั้งการใช้เครื่องเดิม หรือใช้วิธีซื้อน้ำยาและใช้เครื่องมือจากเอกชน หรือจัดซื้อโดยใช้งบของโรงพยาบาล

ส่วนวิธีการตรวจ ทุกแห่งใช้การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time PCR ซึ่งเป็นวิธีการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ผู้ตรวจต้องเป็นนักเทคนิคการแพทย์ ที่มีความรู้ความชำนาญ และระบบไบโอเซฟตี้ หรือ ความปลอดภัยทางชีววิทยา (Biosafety)

“การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งในการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อให้การวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว การเปิดห้องปฏิบัติการ จัดซื้อน้ำยา และอุปกรณ์การตรวจโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีการจัดซื้อเครื่องมือรวม “

download 9 1

นพ.โอภาส ย้ำว่า โครงการ“1 จังหวัด 1 แล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ” นี้ไม่ได้กำหนดสเป็ก โดยให้แต่ละหน่วยงานที่จะตั้ง กำหนดตามความเหมาะสม เพราะการตั้งห้องปฏิบัติการ ต้องมีวิชาการรองรับ ทั้งมาตรฐานเครื่องมือ ชุดตรวจ และต้องมีนักเทคนิคการแพทย์ประจำ และมีไบโอเซฟตี้ด้วย

ตามที่มีข่าว จะมีการพัฒนาห้องปฏิบัติการที่รพ.สต.จึงไม่เป็นความจริง รายงานคลาดเคลื่อน เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่รพ.สพต.จะมีนักเทคนิคการแพทย์ประจำได้ ส่วนที่บอกว่า มีการตั้งงบประมาณหลายพันล้าน เพื่อดำเนินโครงการนี้ ก็ไม่เป็นความจริง และยังโยงไปในเรื่องการทุจริต เรียกรับเงิน 30-40% กับนักการเมือง ก็ไม่เป็นความจริง เพราะโครงการนี้เราทำไปเกือบ 100 ห้องแล้ว ไม่ได้ของบกลาง หรืองบเพิ่มเติม แม้แต่บาทเดียว เป็นการใช้งบของหน่วยงานราชการที่ตั้งขึ้นมา เป้าหมายของเรา คือจะต้องพัฒนาห้องปฏิบัติการให้มีเพียงพอ

ขอให้สื่อบางแห่งที่รายงานคลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามความเป็นจริง ให้รายงานข้อมูลให้ตรงด้วย การให้ข้อมูลที่ปราศจากข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนสับสน และบั่นทอน ทำให้เจ้าที่ที่ทำงานหนัก เพื่อปกป้องคนไทยทุกคนจากโควิด-19 ท้อแท้

 

Avatar photo