COVID-19

ปฏิบัติการเชิงรุก! สแกนหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กวาดผู้ป่วยเข้าเกณฑ์-สัมผัสเสี่ยงสูง ตรวจเชื้อทุกคน

เปิดปฏิบัติการเชิงรุก ! หาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขยายเกณฑ์สอบสวน สแกนพื้นที่ เป้าหมายเพิ่มการตรวจวินิจฉัย ทั้งผู้ป่วยอาการเข้าเกณฑ์ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกราย รวมถึงบุคลากรการแพทย์ หลังเกิดเหตุที่ภูเก็ต ทำบุคลากร 2 รพ.ต้องกักตัว เฝ้าระวังกว่า 112 คน 

918902

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วย ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ตลอดจนผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคโควิด-19 กระจายในหลายพื้นที่ จึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์การเฝ้าระวังสอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI ) ใหม่ เป็นครั้งที่ 7

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคในปัจจุบัน ซึ่งพบผู้ป่วยเกือบทั่วโลก 209 ประเทศ จึงปรับนิยามให้ครอบคลุมผู้เดินทางมาจากทุกประเทศทั่วโลก หากมีอาการป่วย อยู่ในข่ายสอบสวน จะได้รับการตรวจจากห้องปฏิบติการ

ประกอบกับในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยพบการป่วยเป็นกลุ่มก้อน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสนามมวย สถานบันเทิง แต่พบผู้ป่วยที่ไปตลาดนัด เดินทางข้ามจังหวัด โดยสารรถขนส่งสาธารณะ รวมถึงการติดในรพ.ของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่ง ณ วันที่ 7 เมษายน ติดเชื้อรวม 53 คนแล้ว  ประกอบกับกรณีเกิดเหตุการณ์ที่รพ.วชิระภูเก็ต ที่รับกรักษาชาวฮังการี ที่ประสบอุบัติเหตุ ภายหลังพบเป็นโควิด-19 ทำให้มีบุคลากรต้องเฝ้าระวัง 2 รพ. รวมถึง 112 คน

8Apr Phuket

โดยนิยามการเฝ้าระวังโรคที่ปรับใหม่ เพื่อเข้าสู่การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. คัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศทุกคนในทุกช่องทาง โดยเฝ้าระวังผู้ที่มีอุณหภูมิ 37.3 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบหรือหายใจลำบาก ต้องส่งตัวไปตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลที่กำหนด

2. การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล ในกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อที่มีอาการไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับมีประวัติในช่วงเวลา 14 วัน ก่อนเริ่มป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

1) มีประวัติการเดินทาง หรืออาศัยในพื้นที่ที่เกิดโรคโควิด-19

2) มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจำนวนมาก

3) เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือมีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือขนส่งสาธารณะ

4) สัมผัสกับผู้ป่วยโรคโควิด-19

3. การเฝ้าระวังในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยแพทย์ผู้ให้การรักษาประเมินความเสี่ยง หรือโอกาสการติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย/ผู้สงสัยว่าป่วย

4. การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน ของผู้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ให้ผลลบทุกราย ทั้งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ในแผนกเดียวกัน /โรงพยาบาลขนาดเล็ก/คลินิก และในกลุ่มคนที่อยู่ในสถานที่แห่งเดียวกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ภายในสัปดาห์เดียวกัน

5. สำหรับนิยามผู้ป่วยปอดอักเสบยังคงเดิม คือเป็นปอดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ หรือรักษาแล้วไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้ หรือภาพเอกซเรย์ปอดเข้าได้กับโรคโควิด-19

ประชาชนที่ป่วย และมีอาการเข้าเกณฑ์ตามนิยาม จะได้ตรวจวินิจฉัยทุกคน ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการป่วย หากสอบสวนโรคพบเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้าเกณฑ์ ก็จะได้ตรวจวินิจฉัยเช่นกัน 

” ทุกพื้นที่มีผู้ปวยยืนยัน เรามีหน้าที่ต้องไปสอบสวน และหาว่าผู้สัมผัสมีกี่คน วิธีการของเราคือผู้ป่วย ป่วยวันไหน ก็จะนับไป 24 ชม.ก่อนหรือหลัง ผู้ป่วยมีอาการ เราจะเข้าไปสอบสวน และตรวจให้มากที่สุด ดีที่สุดขอให้ทุกคนแสดงตน ให้เราไปสอบสวน “

สำหรับประเด็นฤดูฝนที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนั้น การแพร่ระบาดของโรค เกิดจากตัวเชื้อ คน และสิ่งแวดล้อม หน้าฝน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป มีโอกาสโรคจะแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตามช่วงนี้การรายงานประจำวัน จะพบว่า คนมาจากต่างประเทศลดลง เชื้อนำเข้าก็ลดลง การรายงานกลุ่มติดเชื้อที่กลับมาจากต่างประเทศก็ลดลง ดังนั้นจึงอยู่ที่มาตรการควบคุมและความร่วมมือของทุกคนด้วย

หากเราควบคุมภายในอย่างเข็มแข็ง พื้นที่กทม. ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมสูงุด ก็จะมีผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับ ประกอบกับการปิดสถานที่ ลดการเคลื่อนย้าย การประกาศเคอร์ฟิว และมาตรการในระดับภูมิภาค รวมไปถึงการตรวจหาเชื้อ และมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น การเว้นระยะ ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ generation 2

มาตรการต่างๆนั้น หากจัดการได้ดี วงจรของเชื้อจะลดลงแน่นอน ต่อให้สิ่งแวดล้อมหน้าฝน ที่จะมาถึงจะเอื้อบ้างก็ตาม อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆจะต้องประเมินเป็นระยะๆ ขอให้ประชาชนร่วมมือให้ดีที่สุดในวันนี้ และวางแผนการเข้าสู่เดือนพฤษภาคมล่วงหน้าไปพร้อมกัน

070463

สำหรับคำถามว่า อีกไม่กี่วันจะถึง 15 เมษายน จะมีจำนวนผู้ป่วยถึง 7,000 คน ตามที่มีผู้คาดการณ์หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย ย้ำว่า หากเราดูเฉลี่ยผุ้ป่วยสูงสุด 188 คนต่อวัน รวม 8-9 วันจากนี้จนถึง 15 เมษายน สะสมเพิ่มก็ราว 2,000 คน รวมสะสมมาก่อนหน้านี้ก็เป็น 4,000 คน โอกาสจะไปถึง 7,000 คนก็ไม่น่าถึง  แต่จะถึง 7,000 คน หรือไม่ เราต้องทำมาตรการต่างๆอย่างเข้มข้น และทุกคนต้องช่วยกันร่วมมือกัน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง

ด้านหนึ่งป้องกันเชื้อนำเข้า โดยไม่ให้เชื้อมาจากต่างประเทศ เป็นเหตุผลให้ เราไม่สามารถเปิดรับชาวต่างชาติได้ เพราะตอนนี้ระบาดถึง 209 ประเทศแล้ว และหลายประเทศระบาดอย่างต่อเนื่อง และรุนแรง โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐ

ส่วนคนไทยในประเทศก็ต้องระวังตัวเอง ทุกคนใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่างกันให้ถึง 1 เมตรครึ่งขึ้นไป และตัองปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่นแยกของใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยใหม่ลดลง และผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ ก็ต้องรีบแจ้งกัน ไม่ปกปิดข้อมูล ให้เราไปตรวจ และแยกกัก สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ป่วย

Tester 011

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุถึงข้อวิจารณ์ ว่าประเทศไทย ตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อย และปกปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อ ว่า โลกโซเชียลในปัจจุบันปกปิด หรือซ้อนตัวเลขกันไม่ได้ เพระโรคนี้น่ากังวลใจ หรือน่ากลัวสำหรับทุกคนแม้บุคลากรทางการแพทย์ ที่ไหนใครรู้ว่ามีผู้ติดเชื้อ ไม่มีทางปกปิดได้แน่นอน  และเราก็ได้รับนโยบายทุกระดับไม่มีการปิดบังตัวเลขใดๆ เพราะการซ้อนตัวเลขผลเสียอยู่ที่ทุกคน

สำหรับการตรวจหาเชื้อของไทย หลายคนบอกให้ตรวจหาเชื้อเยอะๆ คนถูกตรวจจะได้มั่นใจไม่เป็น หรือหากเป็น จะได้รับการรักษา จากข้อมูลทั่วโลก สัดส่วนการตรวจห้องปฏิบัติการมีสัดส่วนแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง อิตาลี มีประชากรเท่าๆกับไทย คือ 60.5 ล้านคน อัตราการติดเชื้อต่อจำนวนที่ตรวจ 18.65%  เกาหลีใต้ ประชากร 51.3 ล้านคน ตรวจสัดส่วน 21.9%

มาดูประเทศไทย เราตรวจไปทั้งหมด 71,860  ตัวอย่าง (ณ วันที่ 4 เม.ย. 63 ) พบผู้ติดเชื้อ 2,067 คน คิดเป็นอัตราผู้ติดเชื้อต่อจำนวนที่ตรวจถึง 66.6%

Tester 01 1

ความสำคัญของการตรวจ ที่เรากำลังทำอยู่ คือ การเร่งขยายค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยขีดวงให้เหมาะสม เพื่อเจอคนสัมผัสให้มากที่สุด และตรวจหาเชื้อคนกลุ่มนั้นทุกคน และที่ผ่านมาก็มีแผนขยายห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อรองรับด้วย ในปลายเดือนเมษายนนี่จะเป็น 110 แห่งแล้ว ขณะเดียวกันก็จะมีการพัฒนาห้องตรวจใหม่ เช่น แบบไดร์ฟทรู หรือ ห้องตรวจแบบตู้

ซึ่งไม่ต้องกังวลเลย มีภาคเอกชนไทยจำนวนมาก ต่างต้องการเข้ามาร่วมทำงานแก้ปัญหาโควิด-19 ในครั้งนี้ รวมถึงพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆออกมาใช้งานหลากหลาย ยกตัวอย่าง ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ผู้ผลิตของไทยมาป้อนชุดตรวจหาเชื้อให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจลดลงหลายเท่าตัว เป็นต้น

Avatar photo