COVID-19

10 เรื่อง และ 3 หมัดน็อค โควิด-19

10 เรื่อง “โควิด-19” ย้ำกลุ่มสี่ยง ‘ผู้สูงอายุ-ภูมิคุ้มกันต่ำ-โรคประจำตัว’ พร้อมแนะ 3 หมัดน็อค “อย่ากลัวพบผู้ป่วย” ต้องค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก บุกหากลุ่มเสี่ยง และความร่วมมือของประชาชน  

s5hziau0kpw48o4gww
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข (ระดับ 10 ) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเรียบเรียงข้อมูล 10 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับ “โควิด-19 ” เพื่อให้ประชาชนเข้าใจโรคนี้มากขึ้น และป้องกันรักษาอย่างถูกวิธี พร้อมแนะวิธี 3 หมัดน็อคหยุดเชื้อ ดังนี้

1.หลังร่างกายได้รับเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายในวันที่ 5 ภายหลังจากการรับเชื้อ ระยะของการฟักตัว เมื่อได้รับเชื้อจนมีอาการป่วย ~ 1-14 วัน

2. ความสามารถในการแพร่โรคของผู้ป่วย 1 คนแพร่โรคได้ ~ 2.5 คน

2.1 บางกรณีที่มีผู้แพร่โรคให้กับคนอื่นได้มากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า “super spreader” และการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ความสามารถในการแพร่โรคจะสูงขึ้น เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ซึ่งในช่วงนั้นประเทศไทย มีค่าความสามารถในการแพร่โรคอยู่ที่ ผู้ป่วย 1 คนแพร่โรคได้ ~ 3.6 คน

2.2 ขณะนี้ประเทศไทยมีค่าความสามารถในการแพร่โรค ผู้ป่วย 1 คนแพร่โรคได้ ~ 1-2 คน

3. การติดต่อของโรคคือ 2 ทางหลัก

3.1 ได้รับเชื้อไวรัสโดยตรง เมื่ออยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วย และมีผู้ที่ไอหรือจาม ที่ไม่มีการป้องกันตนเอง

3.2 ผู้ป่วยไอ จาม และมีละอองเชื้อฝอยทิ้งไว้ในพื้นผิวสัมผัสทั่วไป แล้วผู้อื่นก็มาจับละอองฝอยเชื้อเข้าสู่ร่างกายด้วยการนำมือสัมผัสใบหน้า เช่น ปาก จมูก ตา

4. ขอให้แบ่งง่ายๆ เป็น 2 กลุ่ม

4.1 กลุ่มผู้ป่วย (ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด) ต้องสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งสามารถลดการแพร่กระจายของละอองเชื้อได้ 97% เนื่องจากปริมาณละออง ความเร็ว ระยะทางที่เคลื่อนที่ไปได้จะลดน้อยลง ล้างมือ และทบทวนประวัติเสี่ยง ไปพบแพทย์ และ ” ต้องเล่าความจริงทั้งหมด” 

4.2 ผู้ที่ยังไม่ป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากชนิดผ้า เพื่อป้องกัน รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการเช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ และหลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ และหมั่นล้างมือให้สะอาด

5. เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทั่วไปจะอยู่ในสภาพแวดล้อม ประเทศไทยอากาศร้อน อยู่ได้ ~ 6 ชั่วโมง และสูงสุด ~ 24-72 ชั่วโมง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นผิวและอุณหภูมิ หากอุณหภูมิสูงเชื้อจะมีอายุที่สั้นลง

90368216 626007854625352 7040402741989998592 o

6. อาการของโรคโควิด 19

6.1 มีความแตกต่างในเด็กและผู้ใหญ่ คือ เด็กจะมีอาการน้อยกว่า

• สำหรับเด็ก
– 42% จะมีอาการไข้
– 49 % มีอาการไอ
–  8 % มีน้ำมูก
– 7 % มีอาการอ่อนเพลีย

• สำหรับผู้ใหญ่
– 89 % จะมีอาการไข้
– 68 % มีอาการไอ (อาการหลักที่สำคัญ)
– 14 % จะมีอาการเจ็บคอ
– 15 % มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
– 5 % มีน้ำมูก
– 38 % มีอาการอ่อนเพลีย

7. หากมีอาการของปอดอักเสบจะเริ่มแสดงอาการ เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว และลำบาก

7.1 ช่วงอายุมีผลต่ออัตราการเสียชีวิต
– กลุ่มอายุ 10-19 ปีมีโอกาสต่ำมาก
– กลุ่มอายุ50-59 ปี มีโอกาสเสี่ยงสูง
– กลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก  หากมีผู้ป่วยช่วงอายุนี้ 100 คน จะมีอัตราเสียชีวิตถึง ~ 15 คน

7.2 กลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ และมีอาการรุนแรงสูงกว่าคนทั่วไปและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่
– ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
– ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง/หัวใจ อัมพาต โรคไตวายเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วน โรคตับแข็ง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และคนอ้วน (ผู้ที่มีดัชนีมวลมากกว่า 35 กก/ต่อตารางเมตร)

8. ความรุนแรงของโรค แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยติดเชื้อทุกคนไม่ได้มีอาการที่รุนแรง

8.1 ในผู้ติดเชื้อ 100 คน พบว่า 80 เป็นผู้ป่วยมีอาการน้อยถึงน้อยมาก สามารถหายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส และ 30 คนใน 80 คน เป็นการติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันแต่ไม่มีอาการ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะดีที่สุดคือการไม่ติดเชื้อเลย

8.2 ในผู้ติดเชื้อ 100 คน พบว่า 20 คน เป็นผู้ป่วยที่อาจจะต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล และ 5 คนใน 20 คน จะมีอาการรุนแรงและจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลในกรณีพิเศษ

9. กรณีการเสียชีวิตเฉลี่ย คือ ผู้ป่วย 100 ราย จะมีผู้ที่เสียชีวิต 1.4% แต่ความรุนแรงของการเสียชีวิตจะแตกต่างกัน 

10. ขณะนี้มีการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาตามอาการ ได้แก่ Favipiravir ที่เป็นยาหลัก Remdesivir อยู่ในขณะศึกษาวิจัย ส่วนยากลุ่มเสริมคือ Lopinavir+Ritonavir / Darunavir+ Ritonavir เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ และ Cloroquine ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย โดยในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน และในหลายประเทศได้เร่งทำการศึกษาวิจัยอยู่

นพ.รุ่งเรือง ยังระบุอีกว่า สิ่งสำคัญ “หมัดน็อค ชนะโควิด 19”  มี 3 ประการ ดังนี้

1. ลด และชะลอการติดเชื้อให้มากที่สุด
โดยคนติดเชื้อมาก ก็ตายมาก เช่น ถ้าติดเชื้อ จำนวน 1,000,000 คนพร้อมๆ กัน จะมีคนตาย ~ 20,000-100,000 คน เพราะระบบและหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รับมือไม่ได้ และหมอพยาบาลอาจตายร่วมด้วย

2. ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก บุกกลุ่มเสี่ยง และตรวจ lab ~ 25,000 – 50,000 คน โดยต้องอย่ากลัวการพบผู้ป่วย ต้องบุก ค้น และตรวจให้มาก จำนวนผู้ป่วยไม่ใช่ความผิด แต่เราต้องรู้ความจริง เพื่อตีวงกลุ่มเสี่ยง เพื่อควบคุมโรคแบบเด็ดขาดครับ นี่คือ “หมัดน็อค”

3. หมัดน็อคง่ายๆ คือ พลังความร่วมมือทุกคน ปฏิบัติตามมาตรการ ที่แนะนำ ถ้าทำได้ มากกว่า 90 % ชนะแน่นอน

 

Avatar photo