COVID-19

‘องค์การอนามัยโลก’ แนะ 7 เคล็ดลับ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้ประสิทธิภาพ

ศูนย์จีโนมฯ เผยองค์การอนามัยโลก แนะ 7 ประเด็นสำคัญ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้ประสิทธิภาพ แนวทางการพัฒนาวัคซีน เช็กเลย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า 7 ประเด็นสำคัญที่องค์การอนามัยโลกแนะนำช่วงเวลาการฉีดวัคซีนในแต่ละกลุ่มประชากร รวมทั้งประเภทสายพันธุ์ของโอไมครอนที่ควรนำไปใช้เป็นหัวเชื้อในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ชนิดสายพันธุ์เดี่ยวหรือ วัคซีนโมโนวาเลนต์ ในอนาคต

shutterstock 1866504949 1

ที่ปรึกษาสองกลุ่มขององค์การอนามัยโลก คือ กลุ่มที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน (SAGE) และกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนโควิด-19 (TAG-CO-VAC) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับช่วงเวลาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับแต่ละกลุ่มประชากร

นอกจากนี้ ยังแนะนำสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ควรนำมาใช้เป็นหัวเชื้อผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตเมื่อวันที่ 28 มีนาคม และ 18 พฤษภาคม 2566 ตามลำดับ

คำแนะนำดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่องค์การอนามัยโลก ยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโควิด-19 เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ( 4 พฤษภาคม 2566) โดยมี 7 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1. วัคซีนในอนาคตควรมุ่งเป้าไปที่โอไมครอนกลุ่ม XBB.1 (XBB.1.5, XBB.1.16, และ XBB.1.9.1) โดยที่สายพันธุ์ดั้งเดิมของ SARS-CoV-2 กล่าวคือ ไวรัสอู่ฮั่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ไม่ควรนำมาใช้เป็นหัวเชื้อผลิตวัคซีนอีกต่อไป

วัคซีน 3

ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณการระบาดไหลเวียนติดเชื้อในมนุษย์ทั่วโลกลดลง และภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นขึ้นมา จะมีประสิทธิภาพต่ำ ในการจับและทำลายโอไมครอนสายพันธุ์ปัจจุบัน

2. วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่ เช่น วัคซีนไบวาเลนต์บูสเตอร์ในสหรัฐฯ แม้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต แต่ก็มีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันการติดเชื้อ โควิด-19 เนื่องจากแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้น มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังฉีด

3. การแก้ไขแนวทางการให้วัคซีน แนะนำว่า เด็กและวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 6 เดือน-17 ปีที่มีสุขภาพดีอาจ ไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน

อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ควรได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นภายใน 6 ถึง 12 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนครั้งสุดท้าย

shutterstock 1727728000 1

4. วัคซีนในอนาคต อาจพิจารณาใช้สายพันธุ์ลูกผสมโอไมครอนกลุ่ม XBB.1 และลูกหลาน เพียงชนิดเดียว (โมโนวาเลนต์) เช่น XBB.1.5, XBB.1.16, หรือ XBB.1.9.1 เป็นหัวเชื้อหรือแอนติเจนที่ใช้ผลิตวัคซีน

5. ไม่แนะนำให้ใช้สายพันธุ์เก่า มาเป็นหัวเชื้อร่วมกับสายพันธุ์ใหม่ (ไบวาเลนต์) แม้ผลกระทบทางคลินิกจะยังไม่ชัดเจน แต่มีหลักฐานในหลอดทดลองชี้ชัดว่า หากใช้สายพันธุ์เดิมฉีดกระตุ้นซ้ำ ๆ จะทำให้การสร้างแอนติบอดีของเม็ดเลือดขาว ต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ด้อยประสิทธิภาพลง (immune imprinting*) จึงควรใช้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เท่านั้น ในการผลิตวัคซีนในอนาคต

6. คำแนะนำสำหรับวัคซีนโควิด-19 ของ องค์การอนามัยโลก อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามลักษณะการแพร่ระบาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

shutterstock 1692105757 1

7. องค์ประกอบแอนติเจนของวัคซีน COVID-19 ในอนาคตจะได้รับการประเมินเป็นประจำโดย TAG-CO-VAC โดยพิจารณาจากวิวัฒนาการของไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสอย่างต่อเนื่อง

หมายเหตุ

การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่ใช้ไวรัสตัวเดิมซ้ำ ๆ อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Immune imprinting เป็นกระบวนการที่ระบบภูมิคุ้มกันของเรา เรียนรู้จดจำรูปลักษณ์ของไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีน เช่น วัคซีนโควิด-19 อันจะช่วยให้ร่างกายของเราตอบสนอง (สร้างแอนติบอดี) ได้เร็วขึ้น หากพบไวรัสตัวเดิมในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากร่างกายเรากลับพบกับ ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ระบบภูมิคุ้มกันอาจยังคงจดจำรูปแบบเดิมของไวรัสสายพันธุ์เก่า ที่เรียนรู้จากวัคซีน ทำให้ไม่สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

อุบัติการณ์นี้พบได้ในหลอดทดลอง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในระบบร่างกายมนุษย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo