COVID-19

คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี ได้ทุกชนิด ควรฉีดก่อนฤดูฝน

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี แนะฉีดก่อนฤดูฝน ใช้ชนิดใดรุ่นใดก็ได้ ฉีดพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้  

วันนี้ (27 เม.ย. 2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

แผนฉีดวัคซีนโควิด-19

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ 4 เรื่องสำคัญ คือ

1. แผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในระยะถัดไป เป็นแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปีสำหรับประชาชน (ปี 2566 – 2567) โดยจะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก ฉีดปีละ 1 เข็ม แนะนำให้ฉีดช่วงก่อนฤดูฝน หรือตั้งแต่เมษายน เพราะคาดว่าเชื้อจะระบาดมากในช่วงฤดูฝน

นอกจากนี้ สามารถใช้วัคซีนชนิดใด/รุ่นใดก็ได้ที่ได้รับการรับรอง โดยไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าไร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชาชนที่ต้องการฉีดเกือบ 20 ล้านโดส และสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง แต่หากไม่ได้ฉีดพร้อมกัน สามารถฉีดเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง

อนุทิน 1
อนุทิน ชาญวีรกูล

แม้หลังสงกรานต์ จะพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นไปตามที่กรมควบคุมโรคคาดการณ์ไว้ และขอให้ประชาชนรีบมารับวัคซีนโควิดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉีดก่อนป้องกันก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง (กลุ่ม 608 และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี) กลุ่มเสี่ยงการสัมผัส/แพร่เชื้อ คือ อาชีพที่ต้องสัมผัสคนจำนวนมาก หรืออยู่ในสถานที่แออัด เช่น ทัณฑสถาน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และ อสม. เพื่อลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต และรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถรับวัคซีนประจำปีได้เช่นเดียวกันตามความสมัครใจ

สธ.ๅ

2. เห็นชอบมาตรการเร่งรัดการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก ปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องยกระดับมาตรการควบคุมโรค เพิ่มความเข้มข้นในการสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จัดกิจกรรมรณรงค์จิตอาสาฯ ทุกสัปดาห์

พร้อมกันนี้ ให้เร่งรัดผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สื่อสารเชิงรุกไปยังสถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา และประชาชน เพิ่มความเร็วในการตรวจวินิจฉัยและรักษา โดยใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว รวมทั้งให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมรองรับการรักษาและควบคุมโรคตามแนวทางของกรมควบคุมโรค

3. เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สธ 1

4. เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากมีเหตุการณ์ระบาดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงในโรงเรียน คณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคอาหารเป็นพิษ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานดำเนินการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo