“หมอยง” สรุปการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังองค์การอนามัยโลก ออกคำแนะนำล่าสุด กลุ่มไหนควรฉีดแบบไหน ระยะเวลาฉีดเข็มกระตุ้น
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง คำแนะนำ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยระบุว่า
WHO แนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19 (28 มีนาคม 2566) โดยเน้น ป้องกันความเสี่ยงเสียชีวิต และป้องกันความรุนแรงของโรค
ดังนั้น การให้วัคซีนเข็มกระตุ้น มีการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น อายุ โรคประจำตัว ภาวะภูมิคุ้มกัน และ ความรุนแรงสถานการณ์การระบาดของโรค
การให้วัคซีนเข็มกระตุ้น แนะนำให้เริ่มฉีดได้ ที่ระยะเวลาตั้งแต่ 6 ถึง 12 เดือนขึ้นไปนับจากวัคซีนเข็มล่าสุด โดยให้เริ่มฉีดกระตุ้น ให้แก่
กลุ่มความเสี่ยงสูง (High priority) เป็นลำดับแรก ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้ใหญ่ที่มีโรคร่วมอื่นร่วม ทำให้เสี่ยงสูง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ที่ ติดเชื้อ HIV หรือ ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ, กลุ่มเด็กที่อายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง, หญิงตั้งครรถ์, และ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
คำแนะนำดังกล่าว สอดคล้องกับคำแนะนำของ กระทรวงสาธารณสุข ของเรา
ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Medium priority) ได้แก่ ผู้ใหญ่มีสุขภาพดี อายุ 50-60 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวเสี่ยง และ เด็ก วัยรุ่น ร่วมกับโรคประจำตัว มีปัยจัยเสี่ยง จะแนะนำให้วัคซีน สองเข็มแรก ร่วมกับ หนึ่งเข็มกระตุ้น ประชากรกลุ่มนี้ สามารถรับวัคซีนเข็มที่สี่ได้ แต่ไม่ได้แนะนำให้ทุกคน เนื่องจากอาจจะไม่เห็นผลในเชิง public health
กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มความเสี่ยงต่ำ (Low priority) ได้แก่ กลุ่มเด็กและวัยรุ่น ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี อายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 17 ปี มีความเสี่ยงต่ำจากการติดเชื้อ และความรุนแรง จึงให้พิจารณา รับวัคซีนตามความจำเป็น โดยดูร่วม กับความรุนแรงของสถานการณ์ระบาด และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
คำแนะนำเข้ามาใกล้เคียงกับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ทาง WHO ได้มีการแนะนำให้ใช้ mRNA Bivalent vaccine ต่อสายพันธุ์ BA.5 ให้นำมาใช้เป็น Primary vaccine ได้แล้ว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เบาใจได้ ‘หมอยง’ ชี้โควิด 19 กลายพันธุ์ ความรุนแรงลดลง คนมีภูมิต้านทานเพิ่ม โรคสงบตามฤดูกาล
- ‘หมอยง’ เตือนระวัง ‘โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ชิกุนกันย่า ซิกา’ พบการระบาดมากขึ้น
- หมอยง ชี้ ความต้องการ ‘วัคซีนโควิด’ น้อยลง ในสต๊อกเกินต้องการ ไทยอาจใช้ไม่หมด