COVID-19

‘XBB.1.16-H3N2’ ระบาดหนักในอินเดีย ศูนย์จีโนมฯ เปรียบเทียบอาการ แนะวิธีป้องกัน

ศูนย์จีโนมฯ เผยสถานการณ์ในอินเดีย เจอทั้งโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XBB.1.16” และไข้หวัดใหญ่ “H3N2” แนะวิธีสังเกตอาการ-การป้องกัน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่อง การระบาดของโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XBB.1.16” คู่ไปกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ “H3N2” ในอินเดีย: สิ่งที่คุณควรรู้ โดยระบุว่า

shutterstock 2274607791

อินเดียกำลังเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสมที่เรียกว่า XBB.1.16 (ผสมกันระหว่างโอมิครอน BJ.1 และ BA.2.75) และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล H3N2

ไวรัสอาร์เอ็นเอทั้งสองประเภท มีการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจที่แสดงอาการคล้ายกัน และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้นการตรวจแยกชนิด และสายพันธุ์ของไวรัส จึงมีความสำคัญต่อการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่เหมาะสม

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 ศูนย์จีโนมอินเดียหรือ INSACOG แถลงว่า ได้สุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 76 คนทั่วประเทศ

 

โดยสามารถระบุได้ว่าโอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 เริ่มต้นระบาดจากรัฐมหาราษฏระ แล้วกระจายไปยังเมืองอื่น ๆ โดยมีความเร็วในการแพร่กระจาย มากกว่าโอไมครอนตัวอื่น ๆ ที่เคยระบาดมาก่อนหน้า มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าโอไมครอนลูกผสม XBB.1.5 ถึง 127%

รัฐมหาราษฏระ

ในระยะนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 15 ราย แต่ยังไม่ชัดเจนว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเหล่านี้เกิดจากโอไมครอน XBB.1.16 หรือไม่ เพราะต้องมีการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อยืนยัน

อีกด้านหนึ่ง อินเดียกำลังเผชิญกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ H3N2 ที่แผ่เป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นเด็กและผู้สูงอายุ

ข้อมูลจากโครงการสอบสวนโรคระบาดของอินเดีย (the Integrated Disease Surveillance Programme; IDSP) รายงานว่า มีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ H3N2 ในอินเดียถึง 8,765 รายและมีจำนวนผู้เสียชีวิตแล้ว 90 ราย ณ วันที่ 18 มีนาคม 2566

ไข้หวัดใหญ่ H3N2 มักจะทำให้มีไข้สูงอย่างฉับพลัน (>102°F/39°C) ซึ่งกินเวลา 3-4 วัน ในขณะที่โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 อาจทำให้มีไข้เล็กน้อย หรือปานกลาง และคงอยู่นานกว่านั้น

ไข้หวัดใหญ่ H3N2 อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง โดยเฉพาะในเด็ก ในขณะที่โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 ไม่ค่อยทำให้เกิดอาการเหล่านั้น

อาการระหว่างโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่คล้ายกันมาก เว้นแต่การสูญเสียการรับรสและกลิ่น ตาบวมแดง และการเกิดผื่นตามผิวหนังจะพบมากในผู้ติดเชื้อโควิด-19

อาการ

วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ H3N2 คือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนสำหรับโอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 เป็นการจำเพาะ

การตรวจวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ H3N2 สามารถตรวจแอนติเจนของไวรัสเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง (self-test) หรือที่เรียกกันว่าการตรวจ  ATK ส่วนการตรวจ RT-PCR ที่จะมีความไว และความจำเพาะสูงกว่า ต้องดำเนินการในห้องแล็บ โดยการสวอบเชื้อไวรัสจากโพรงจมูกและลำคอ

สำหรับโอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 ก็เช่นเดียวกัน สามารถตรวจกรองได้ด้วย ATK หรือตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิค RT-PCR ที่มีความไวและความจำเพาะสูงกว่า

การตรวจสอบ ATK หรือ RT-PCR จะแสดงเพียงผลบวกหรือลบ ไม่สามารถระบุสายพันธุ์โดยละเอียดได้ หากต้องการทราบถึงสายพันธุ์ย่อยของไวรัส จำเป็นต้องใช้การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม เพื่อยืนยัน

ลูกผสม

วัคซีนและยาต้านไวรัส มีหลายชนิด สำหรับการป้องกัน และรักษาโรคติดเชื้อไวรัส

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีครอบคลุม 4 สายพันธุ์ รวมถึง H3N2 ซึ่งควรฉีดก่อนเริ่มฤดูกาล หรือให้เร็วที่สุด หลังจากติดเชื้อ

ส่วนโอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 แม้ไม่มีวัคซีนเฉพาะเจาะจงสำหรับสายพันธุ์ย่อยนี้ แต่วัคซีนที่มีอยู่เช่น วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนใช้ไวรัสเป็นพาหะ หรือวัคซีน mRNA ต่อเชื้อโควิด-19 สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้ดี

ยาต้านไวรัส เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) สำหรับรักษาการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ H3N2 และ โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)/แพกซ์โลวิด (Paxlovid) สำหรับ โอไมครอน XBB.1.16 สามารถลดปริมาณไวรัส บรรเทาอาการรุนแรง ย่นระยะเวลาการเจ็บป่วย และภาวะแทรกซ้อน หากใช้รวดเร็วภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ หลังจากการทราบผลวินิจฉัยว่าติดเชื้อ

ทางการอินเดีย ได้ประกาศเตือนประชาชนอินเดีย เมื่อมีอาการหวัด ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย ไม่ควรรักษาตัวเองเนื่องจากอาจเป็นอันตรายได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo