COVID-19

ศูนย์จีโนมฯ เฉลย ทำไม? WHO ยังจัดให้ ‘โควิด’ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ต่อไปในปี 66

ศูนย์จีโนมฯ เฉลย ทำไม? WHO ยังจัดให้ ‘โควิด’ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ต่อไปในปี 66

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  อธิบายว่า ทำไมองค์การอนามัยโลกยังจัดให้โควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศต่อไปในปี 2566 อีกระยะหนึ่ง?

องค์การอนามัยโลกแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก (Pandemic)  ยังคงถือว่าอยู่ใน “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (global public health emergency)” ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ก็มีสัญญาณที่ดีอย่างต่อเนื่อง เชื่อได้ว่าสามารถยกเลิกมาตรการดังกล่าวได้ในภายในปี 2566 เพื่อปรับเข้าสู่ภาวะของโรคประจำถิ่นได้ (Endemic) โดยจะมีการพิจารณายกเลิกมาตรการดังกล่าวอีกครั้งใน 3 เดือนข้างหน้า

WHO

อนึ่ง องค์การอนามัยโลกได้จัดให้โควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ  ตั้งแต่วันที่ 30  มกราคม 2563 (ภาพ1)

ในขณะที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าที่จะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับโควิด-19 ภายในประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ ให้สิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 โดยลดระดับการแพร่ระบาดในฐานะวิกฤตระดับชาติ ปรับเป็นการบริหารจัดการไวรัสโควิด-19 เหมือนโรคทางเดินหายใจตามฤดูกาลแทน

WHO

ขยายเวลาให้การระบาดของโควิด ยังเป็นภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศ

สาเหตุสำคัญที่องค์การอนามัยโลกต้องขยายเวลาให้การระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะยังมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 170,000 คน ในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศจีน

ซึ่งคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงจากโควิดทั่วโลกมากกว่านี้หลายเท่าตัว เพราะปัจจุบันหลายประเทศได้ลดการตรวจ PCR และการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนมาเป็นการตรวจกรองการติดเชื้อโควิดด้วยตนเองด้วย ATK ทำให้องค์การอนามัยโลกขาดข้อมูลสำคัญที่จะระบุถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้อย่างถูกต้อง

ชนิดของสายพันธุ์หลักในแต่ละประเทศ

อีกทั้งโควิดยังมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง สายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ได้ระบาดเพิ่มจำนวน กลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศ  เช่น

  1. ประเทศจีน สายพันธุ์หลักคือ BA.5.2 สายพันธุ์รองคือ BF.7 (ภาพ2)
  2. ประเทศสหรัฐอเมริกา สายพันธุ์หลักคือ XBB.1.5 สายพันธุ์รองคือ BQ.1.1 (ภาพ3)
  3. ประเทศไทย สายพันธุ์หลักคือ BN.1.3 (ภาพ4)
  4. ประเทศกัมพูชา สายพันธุ์หลักคือ BN.1.2 (ภาพ5)
  5. ประเทศสิงคโปร์ สายพันธุ์หลักคือ XBB.1 (ภาพ6)
  6. ประเทศฟิลิปปินส์ สายพันธุ์หลักคือ BA.2.3.20 (ภาพ7)
  7. ประเทศญี่ปุ่น สายพันธุ์หลักคือ BF.5 (ภาพ8)
  8. ประเทศรัสเซีย สายพันธุ์หลักคือ CL.1 (ภาพ9)
  9. ประเทศนิวซีแลนด์ สายพันธุ์หลักคือ CH.1.1(ภาพ10)
  10. ประเทศออสเตรเลีย สายพันธุ์หลักคือ XBF (ภาพ11)

WHO

โดยแต่ละสายพันธุ์มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่แตกต่างกัน (ภาพ12) มีความต้านทานต่อยาแอนติบอดีสร้างภูมิสำเร็จรูปไม่เหมือนกัน(ภาพ13) แต่เป็นที่น่ายินดีที่ยังไม่พบว่าโควิดสายพันธุ์ไหนดื้อต่อยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาฉีด ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยาเม็ด (ภาพ14) แต่ต้องบริหารจัดการใช้ยาต้านโควิดอย่างระมัดระวังมิให้เกิดการดื้อยาเหมือนไวรัสเอชไอวีในอดีต

WHO

WHO เฝ้าติดตามโควิด 3 เดือนจากนี้

ดังนั้นในช่วง 3 เดือนจากนี้ องค์การอนามัยโลกจะเฝ้าติดตามโควิด-19 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Genomic Surveillance) ทั้งจากผู้ติดเชื้อและจากแหล่งน้ำเสียใกล้ชุมชนเพื่อประเมินล่วงหน้าว่าไวรัสโควิด-19 กำลังลดความรุนแรงในการแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) กลายมาเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ด้วยการชะลอการกลายพันธุ์บนจีโนมและลดจำนวนสายพันธุ์ย่อยที่อุบัติขึ้นมาใหม่ลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

องค์การอนามัยโลกคาดหวังว่าภายในปีนี้ โลกจะเปลี่ยนไปสู่ระยะใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงต่ำสุด และระบบสุขภาพของแต่ละประเทศสามารถรองรับการระบาดของโควิด-19 ได้เข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นด้วยการบูรณาการที่ยั่งยืน

โควิด

โควิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo