COVID-19

ระวัง!! ภาวะ POTS จากโควิด-19 เริ่มพบมากขึ้น แม้โควิดใกล้ปิดเกม เช็กอาการ ตามนี้

“หมอนิธิพัฒน์” เผยภาวะ POTS จากโควิด-19 ร่องรอยความสูญเสียจากโควิด หัวใจเต้นเร็ว เมื่อเปลี่ยนท่าจากนอนหรือนั่งไปสู่ท่ายืน แนะวิธีเช็กอาการตามนี้

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ห่วงภาวะ POTS จากโควิด-19 ที่เริ่มพบมากขึ้น โดยระบุว่า

ภาวะ POTS จากโควิด-19

แม้โควิดจะใกล้ปิดเกมแล้ว แต่ร่องรอยความสูญเสียที่ทิ้งค้างไว้ ยังต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการไปอีกระยะหนึ่ง

ปีที่แล้วเริ่มมีการรายงานบุคลากรทางการแพทย์ของอเมริกา เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว เมื่อเปลี่ยนท่าจากนอนหรือนั่งไปสู่ท่ายืน (postural orthostatic tachycardia syndrome, POTS) ซึ่งอาจเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19

ไม่นานถัดมา จึงมีรายงานเช่นเดียวกันจากทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเพิ่มเติมถึงการเกิดขึ้นในประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ต่อมาจึงมีการศึกษาในรายละเอียดกับผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น พบว่า POTS นี้เกิดขึ้นเกี่ยวข้องทั้งกับคนที่ฉีดวัคซีนโควิด แต่กลับพบบ่อยกว่าถึงห้าเท่าในคนที่ติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติ

ในกลุ่มหลังนี้ไม่ต่างกับที่พบในการติดเชื้อไวรัสอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ และจัดอยู่ในกลุ่มอาการภายหลังติดเชื้อไวรัส (postviral infection syndrome) ซี่งคล้ายคลึงกับกลุ่มอาการลองโควิด

shutterstock 1523322002

โดยที่พบบ่อยคือ อ่อนเพลียเหนื่อยล้า (fatigue) หอบเหนื่อยหรือใจสั่นเวลาออกแรง (dyspnea or palpitation on exertion) และ สมองตื้อ (brain fog)

ลักษณะของผู้ป่วย POTS ที่เกี่ยวข้องกับโควิดนี้คือ พบในผู้หญิงพอ ๆ กับผู้ชาย โดยมีน้อยมาก ๆ ที่พิสูจน์ทราบได้ว่า เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) พยาธิกำเนิดเชื่อว่าชิ้นส่วนของไวรัสทำให้เกิดการอักเสบและทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติ (dysautonomia)

สำหรับความชุกของภาวะนี้ ในคนที่หายจากโควิดหรือหลังฉีดวัคซีน ยังไม่ทราบแน่นอน แต่นักวิจัยเชื่อว่ามีพอสมควร

การทดสอบภาวะ POTS ง่าย ๆ ทำโดยการให้ผู้ป่วยนอนพักสบาย ๆ ราวห้านาที ทำการบันทึกชีพจรและความดันโลหิตไว้เป็นพื้นฐาน แล้วจึงให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืน ถ้าภายใน 10 นาทีหลังยืน มีชีพจรเพิ่มขึ้นจากเดิม 30 ครั้งต่อนาที และความดันโลหิตตัวบน (ซิสโตลิก) ลดลงกว่าเดิม 20 มม.ปรอท ถือว่าเป็น POTS ได้

ใครสนใจอ่านเพิ่มเติมจากบทความใน https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2800964…

สำหรับผมเองแนะนำคนที่ได้รับปรึกษามาว่า ถ้าเดิมคุณแข็งแรงดี แล้วมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก ภายใน 3 เดือนหลังติดเชื้อโควิดหรือหลังฉีดวัคซีนโควิด วิธีการทดสอบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ในระบบการหายใจหรือระบบหัวใจและหลอดเลือด

ทำง่ายๆ โดยการวัดชีพจร และความอิ่มตัวของออกซิเจนปลายนิ้วขณะพัก หลังจากนั้นให้ลุกยืนและเดินเร็ว ๆ สัก 3-5 นาที แล้ววัดค่าทั้งสองซ้ำอีกครั้ง (หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้หยุดก่อนได้)

ถ้าชีพจรเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกิน 30 ครั้งต่อนาทีและค่าที่ได้ต้องเกินกว่า 120 ครั้งต่อนาทีด้วย หรือความอิ่มตัวของออกซิเจนปลายนิ้วลดลงกว่าเดิมเกิน 3% และค่าที่ได้ต้องต่ำกว่า 94% ด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์

ใกล้เวลาไปท่องเที่ยวแบบสบายใจ เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ทั่วไทยแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo