POLITICS-GENERAL

เจาะ 7 พื้นที่เป้าหมาย ป้องกัน ‘ยุงลาย’ เชิงรุก เหตุพบแหล่งเพาะพันธุ์

เจาะ 7 พื้นที่เป้าหมาย ป้องกันยุงลายเชิงรุก ร่อนหนังสือสาธารณสุขจังหวัด ทำ 8 มาตรการ พร้อมขอความร่วมมือประชาชน และทุกภาคส่วน เฝ้าระวังป้องกัน แนะสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทุกสัปดาห์ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคติดต่อ นำโดยยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม–กรกฎาคมของทุกปี การเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่ทุกจังหวัดอย่างเข้มข้น และต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ

mosquito 1332382 640

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–13 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 11,938 ราย เสียชีวิต 9 ราย จำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 ถึง 44% แต่ยังสูงกว่าปี 2561 และ 2560 ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายได้

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากโปรแกรมทันระบาดในเดือนเมษายน 2563 ยังพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

โดยเฉพาะอำเภอที่มีการระบาดต่อเนื่องเกิน 28 วัน เกือบทุกอำเภอ มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนเกินเกณฑ์มาตรฐาน (HI > 5) ซึ่งถือว่ายังมีพาหะนำโรคในหลายพื้นที่

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ขอความร่วมมือดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายเชิงรุกในพื้นที่ทุกจังหวัด โดยเฉพาะใน 7 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ โรงเรือน โรงธรรม โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล โรงงาน สถานที่ราชการ ดังนี้

1. ให้ประชาชนสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ในบ้านตนเองทุกสัปดาห์

2. สำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จิตอาสาที่ดูแลพื้นที่ ในชุมชนพื้นที่สาธารณะทุกแห่งทุกสัปดาห์ และมีผู้รับผิดชอบ ติดตามผลการดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์ โดยมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น

3. ในสถานที่ที่ปิดชั่วคราว เช่น โรงเรียน โรงแรม ควรมีการสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผู้รับผิดชอบสถานที่นั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งยุงพาหะสามารถเคลื่อนที่ ไปยังสถานที่อื่นได้

4. ไม่จัดกิจกรรมรณรงค์ที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก

5. การดำเนินกิจกรรมของจิตอาสา ต้องมีระยะห่างระหว่างบุคคล ควรลดความแออัด ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ เช่น จัดสถานที่ให้กว้างขวางเพียงพอ ไม่ให้นั่งหรือยืนอยู่รวมกันอย่างเบียดเสียด กระจายมุมบริการอาหาร และเครื่องดื่ม

6. จัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง กำจัดขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร หน้ากากอนามัย เศษใบไม้ เป็นต้น

7. เมื่อพบผู้ป่วยรายใหม่ในหมู่บ้าน หรือชุมชน ต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรค 3-3-1 คือ ถ้าพบผู้ป่วยโรงพยาบาลต้องแจ้ง รพสต. ภายใน 3 ชั่วโมง สอบสวนโรคที่บ้านผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมงต่อมา และควบคุมโรคภายใน 1 วัน ฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายในรัศมี 100 เมตร รอบบ้านผู้ป่วย 

8. ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก เรื่องการป้องกันโรคผ่านสื่อโซเชียล หรือเสียงตามสาย วิทยุชุมชน

180538

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนและทุกภาคส่วนร่วมดำเนินตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้

1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง

2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

นอกจากนี้ต้องสังเกตตนเอง และคนในครอบครัว หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรค และรับการรักษาต่อไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Avatar photo