POLITICS-GENERAL

11 วิธีป้องกัน ‘ สมองเสื่อม’ ในผู้สูงอายุ

สถาบันเวชศาสตร์ฯ กรมการแพทย์ ย้ำผู้สูงอายุเสี่ยง “ภาวะสมองเสื่อม” แนะให้สังเกตความผิดปกติ และรีบมาพบแพทย์  พร้อมแนะ 11 วิธีป้องกัน

หลายคนคิดว่า อาการหลงลืมเป็นเรื่องปกติสำหรับคนสูงอายุ แต่จริงๆอาจไม่ใช่ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า ” อาการสมองเสื่อม “  คือ ภาวะที่มีการสูญเสียความ สามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผล และการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ มีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน และการเข้าสังคม

“สมองเสื่อม เป็นภาวะที่อยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นตามภาวะสังคมสูงวัย ในอดีตมักเชื่อกันว่า อาการหลงลืม เป็นเรื่องปกติของคนสูงอายุ เป็นการหลงลืมตามวัย แต่ความเชื่อดังกล่าวไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด มีผู้สูงอายุส่วนหนึ่ง ที่มีอาการสมองเสื่อม หากญาติ หรือคนใกล้ชิดให้ความสำคัญในการสังเกตความผิดปกติ และรีบนำมาพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย บางส่วนสามารถแก้ไขได้ และจำนวนมากชะลอโรคได้ ถ้าพบในระยะแรก “

dependent 100343 640

ด้านนพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของโรคสมองเสื่อม เกิดจากหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น การเสื่อมของเซลล์สมอง ขาดวิตามินบี 1 หรือบี 12 ติดเชื้อในสมอง การแปรปรวนของระบบเมตาโบลิกในร่างกาย เนื้องอกในสมอง เป็นต้น

ชนิดของโรคสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด คือ “อัลไซเมอร์ “ และ ” โรคหลอดเลือดสมอง “ อย่างไรก็ตามแม้สาเหตุบางอย่างของภาวะสมองเสื่อม จะยังไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เช่น สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ที่เกิดจากพันธุกรรม แต่ก็พบว่าการป้องกันสามารถลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม จึงแนะนำวิธีป้องกัน 11 ข้อ ประกอบด้วย

1. เลือกอาหารที่เหมาะสม รับประทานให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง

2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

3. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์

4. หลีกเลี่ยงกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง

5. ไม่สูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่ๆ มีควันบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า

6. พยายามฝึกสมองให้คิดบ่อยๆ เช่น อ่าน และเขียนหนังสือบ่อยๆ เล่นเกมส์ตอบปัญหา นับเลขถอยหลัง

7. หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง

8. พบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อยๆ หากิจกรรมเพื่อคลายเครียด เช่น เข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นจิตอาสาในโรงพยาบาล

9. ตรวจสุขภาพประจำปี

10. ถ้ามีโรคประจำตัวต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ นอกจากรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์แล้ว ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมอาการของโรคร่วมด้วย โดยเฉพาะโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง

11. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง โดยเฉพาะการหกล้ม

11 ป้องกันสมองเสื่อม e1559895743927

Avatar photo