POLITICS-GENERAL

ดู ‘แม่ย้อย’ เป็นตัวอย่าง! คัดกรองหาเบาหวานก่อนโรคลุกลามไม่รู้ตัว

จบกันไปแล้วกับละครน้ำดี “กรงกรรม” วานนี้ออกอากาศเป็นตอนสุดท้าย เนื้อเรื่องนอกจากชวนตามจนคนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นแม่ที่ยก “ย้อย” กลายเป็นแม่ไอดอล หลายคนเอาย้อยเป็นแม่แบบในการดูแลลูกเต้า แต่บางเรื่องคงเอาย้อยเป็นตัวอย่างไม่ได้ นั่นคือโรคที่ย้อยเป็น  “เบาหวาน”

ย้อย เบาหวาน
ขอบคุณภาพจาก actart_gen

“ย้อย” สะท้อนสถานการณ์สุขภาพไทยได้อีกแง่หนึ่ง เพราะจำนวนคนเป็นโรคเบาหวาน หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs ) ตอนนี้ไม่น้อยเลย และเป็นกันทุกช่วงวัยไม่เว้นวัยรุ่น

สถิติกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 มีกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน (ไม่รวมกรุงเทพ) ราว 2.8 ล้านคน มีตั้งแต่อายุมากกว่า 15 ปี 4,087 คน อายุ 15-39 ปี 99,228 คน อายุ 40-49 ปี 311,408 คน อายุ 50-59 ปี 765,547 คน และอายุ 60 ปีขึ้นไป 1,648,724 คน

26a29fdb270d663f1fd763f6bc477b5e e1556697705868

กรมควบคุมโรค ระบุข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่า ผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมาก 43.2 % ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน และไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ยังพบว่า 78.5 % หรือมากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย

โรคเบาหวานเกิดจากอะไร มาทำความเข้าใจกันอีกที มาจากความผิดปกติทางเมแทบอลิซึม มีลักษณะสำคัญ คือ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ ตา ไต หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง

แล้วเจ้าความผิดปกติของเมแทบอลิซึม มาจากอะไร ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ย้ำชัดว่า 98 % ของคนไทยที่เป็นเบาหวานมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ขณะที่เบาหวานที่เกิดจากกรรมพันธุ์ พบเพียง 2 %

98f9fc4722c8a7a537b8cceb6c4fde3f e1556697756194

ดังนั้นโรคนี้จึงป้องกันได้ โดยก่อนอื่นเชิญชวนผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มาเข้ารับการตรวจหาความเสี่ยง เจอไม่เจอโรคไม่เป็นไร ดีกว่าเป็นแบบไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันก็ต้องปรับพฤติกรรมการกิน ณ บัดดล แม้จะยาก เพราะ ตอนนี้ขนมนมเนย มีให้บริโภคหลากหลายชวนกิน แต่ก็ต้อง “ทำ”  อย่าไปยึดหลักผิดๆ “กินก็เป็นไม่กินก็เป็น” เพราะโรคนี้อย่างที่ชื่อบอก “เรื้อรัง” ไม่ตายง่ายๆ ทำให้ผู้เป็นทรมานพอสมควร จากยาที่กินเป็นกำในแต่ละมื้อ และโรคแทรกซ้อนที่ตามมา อาจถูกตัดอวัยวะสำคัญอย่างขาจากแผลที่ลุกลาม

เพราะผู้เป็นเบาหวาน ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกทำลายระบบประสาท และหลอดเลือดส่วนปลาย ส่งผลให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียหาย เมื่อเกิดการบาดเจ็บที่เท้าจะไม่สามารถรับความรู้สึก มักเกิดแผลที่เท้าโดยไม่รู้ตัวได้ง่าย

และหากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงขา และเท้ามีปัญหา จะทำให้ขบวนการการรักษาแผลของร่างกายเป็นไปอย่างล่าช้า และถ้าติดเชื้อรุนแรงร่วมด้วยผู้ป่วยจึงเสี่ยงถูกตัดเท้า หรือขา สูญเสียความมั่นใจ และสมรรถภาพไปตลอดชีวิต

นอกจากนี้การควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี มีน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง จะมีผลทำให้เส้นเลือดฝอยทั่วร่างกายเปลี่ยนแปลง มีความผิดปกติของผนังหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้มองเห็นไม่ชัด ตาพร่ามัว หากไม่ได้รับการรักษา ตั้งแต่เริ่มผิดปกติ อาจทำให้ตาบอดได้ง่ายๆอีกด้วย

eat 2834549 640 1

ย้ำข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ถึงคำแนะนำสำหรับประชาชน ในการป้องกันโรคเบาหวาน 9 ข้อ ดังนี้

1. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ แต่ให้ลดอาหารหวาน มัน และเค็มจัด เน้นผัก และผลไม้ที่หวานน้อย หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง ให้รับประทานข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน แทนน้ำมันอิ่มตัว เช่น  ไขมันจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม เลือกดื่มน้ำสะอาด

ที่สำคัญต้องรับประทานอาหารเช้าทุกวัน เพราะจะช่วยควบคุมความอยากอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่

2.งดสูบบุหรี่
3.ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

person 3553814 640

4.ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และควรมีค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
5.ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือสะสมได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์
6.ทำจิตใจสดชื่น และผ่อนคลาย

girl 4121276 640

7.ถ้าสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรดูแลและใส่ใจเรื่องการควบคุมอาหาร การกินยา ตรวจตามนัด และสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้น โดยเฉพาะการเกิดแผลที่เท้า

8.หากมีอาการปัสสาวะบ่อย และมาก คอแห้งกระหายน้ำ หิวบ่อยกินจุ น้ำหนักลด เป็นแผลง่าย และหายยาก คันตามผิวหนัง ตามัวและชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป

9. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Avatar photo