POLITICS-GENERAL

‘เท้ง ณัฐพงษ์’ ชำแหละนโยบาย ‘แพทองธาร’ สูญเปล่า หลายนโยบายไร้ผลรูปธรรม

“เท้ง ณัฐพงษ์” ชำแหละนโยบาย “แพทองธาร” ชี้ 1 ปีรัฐบาล “เพื่อไทย” สูญเปล่า หลายนโยบายไร้ผลรูปธรรม ตั้งคำถามนโยบายเรือธง เอื้อ 3 นายหรือไม่

วันนี้ (12 ก.ย.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการแถลงนโยบายรัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยภายหลังนายกรัฐมนตรีกล่าวคำแถลงจบ นายวันมูหะมัดนอร์ ได้เน้นย้ำถึงการอภิปรายว่า เนื่องจากวันนี้เป็นการถ่ายทอดสด ดังนั้น การกล่าวถึงบุคคลภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในสภา อาจจะมีความผิดทางอาญาและทางแพ่งได้ เพราะเราอาจไม่ได้คุ้มครองสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 ได้ จึงขอให้ระมัดระวัง

เท้ง

จากนั้น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายคำแถลงเป็นคนแรกใช้เวลา 35 นาที กล่าวว่า ตนอยากเปิดการอภิปรายด้วยคำถามว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องมาอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งครบ 1 ปีจากรัฐบาลชุดที่แล้วพอดี มาวันนี้เป็นรัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เพราะปัญหาหลักนิติรัฐใช่หรือไม่ ที่ตนต้องตั้งคำถามนี้ก่อนที่จะพูดถึงธีม 1 ปีสูญเปล่า 3 ปีเจ๊าหรือเจ๊ง เนื่องจากอยากส่งต่อเป็นข้อสรุปว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และเชื่อว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังไม่สามารถส่งต่อนโยบายหลายอย่างใน 1 ปีที่ผ่านมาได้ หลักการนิติรัฐมีใจความที่ราบเรียบคือประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ได้ปกครองด้วยการทำตามความอำเภอใจของผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การออกมาแสดงความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวทีสาธารณะในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าประเทศเรากำลังขาดหลักนิติรัฐ ที่คนมีอคติบางอย่างใช้อำนาจที่มีมาทุบทำลาย ประหารชีวิตพรรคก้าวไกล ที่วันนี้กลายมาเป็นพรรคประชาชน ซึ่งไม่ใช่พรรคก้าวไกลเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ แต่คณะรัฐมนตรีก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน และประชาชนก็กำลังตกเป็นเหยื่อของระบบการเมืองวันนี้ ซึ่ง 1 ปีที่สูญเปล่าของการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว โดยที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ และ 3 ปีต่อจากนี้ ตนจะตั้งชื่อเรียกเล่นๆ ว่า รัฐบาล 3 นาย คือนายใหญ่ นายทุน และนายหน้า ที่มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง หรือพูดง่ายๆ คือไม่มีอนาคตที่ดีขึ้น หากเราอยู่ในระบบการเมืองเช่นนี้ เพราะพวกท่านกำลังสยบยอมกระบวนการนิติสงครามที่ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศไปสูญสิ้น

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า หากมองย้อนกลับไป 1 ปีที่ผ่านมา ถามว่าประชาชนได้อะไรจากคำมั่นสัญญาของรัฐบาลชุดที่แล้วบ้าง เช่น เรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่หาเสียงไว้ว่าหากเป็นรัฐบาลจะแจกทันที แต่ตอนนี้กลับเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนตอนนี้ก็ยังไม่จ่าย ตอนแรกบอกจะให้พร้อมกันเพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลกลับปรับแผนมาเป็นทยอยจ่ายโดยจ่ายเป็นเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้จ่ายเป็นดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมดที่รัฐบาลมุ่งหวังว่าจะเป็นโครงสร้างทางดิจิทัล ตอนแรกบอกจะใช้เป็นระบบบล็อกเชนเพื่อความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ว่าสุดท้ายแล้วเงินจะหมุนไปเข้ากระเป๋าใคร แต่ตอนนี้ตอนเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าระบบบล็อกเชนจะยังอยู่ในโครงการนี้หรือไม่ สรุปแล้วโครงการเรือธงนี้แทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิมอะไรแล้ว และไม่แน่ใจว่านโยบายเรือธงนี้จะให้ใครขึ้นประชาชนหรือนายคนใดขึ้น

นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่เรื่องของหนี้เก่าที่ยังไม่แก้ เป็นนโยบายที่รัฐบาลเก่าตั้งโต๊ะแถลงไว้ใหญ่โตประกาศจะแก้หนี้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่หากดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยจะพบว่า 90.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีนั้น เป็นหนี้ของครัวเรือนที่ยังไม่ได้มีแนวโน้มลดลง และเกษตรกรไทยปัจจุบัน 1 ใน 3 ก็มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทั้งนี้ รัฐบาลก็เคยประกาศว่าจะทำให้ให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือมีแต่ปัญหาหมูเถื่อน ปัญหาปลาหมอคางดำที่ทำลายโครงสร้างราคาผลิตผลทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม หากเราดูตัวเลขในระดับมหาภาค 3 ไตรมาสของการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่มีพรรค พท. เป็นแกนนำ จะพบว่าตัวเลขจีดีพีภาคการเกษตรกลับลดลง 3 ไตรมาสติด โดยที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นแล้วไหนสัญญาที่บอกว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี ส่วนภาคธุรกิจ ขณะที่รัฐบาลประกาศจะปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อลดราคาพลังงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลยังไม่ได้มีการเจรจาสัมปทานกับนายทุนพลังงานแต่อย่างใด ทำให้ค่าไฟฟ้ายังแพงอยู่ รัฐบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการติดหนี้การไฟฟ้ากว่า 1 แสนล้านบาทที่อนาคตก็ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนในการใช้หนี้

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า ความท้าทายด้านชีวิตรายวันที่ประชาชนคนไทยในตอนนี้ต้องเจอกับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับประเทศไทยปีละหลายหมื่นล้านบาท และเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เคยอยู่ในคำแถลงของรัฐบาลชุดที่แล้วและเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่กลับไม่ปรากฏในการแถลงนโยบายชุดนี้ รวมถึงด้านภัยพิบัติในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรช่วงต้นปีของเกษตรกรต้องตกต่ำ เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและภัยร้อน แต่ในช่วงหนึ่งถึงสองวันที่ผ่านมา เราประสบปัญหาอีกแบบเนื่องจากปัญหาอุทกภัยและฝนตกหนัก รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ และด้านสิ่งแวดล้อมถ้ารัฐบาลทำงานเป็นก็จะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ด้วยการจัดทำแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระจายแหล่งน้ำในภาคชนบททั้งน้ำประปาที่มีคุณภาพและน้ำเพื่อการเกษตรไปให้ประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย สิ่งที่ตนอยากเห็นมากกว่าคำแถลงนโยบายคือเรื่องรายละเอียดที่ตนอยากให้ครม. ลุกขึ้นตอบ เพราะยิ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ยิ่งต้องมีรายละเอียด รัฐบาลต้องรู้ลึก รู้จริง พร้อมนำไปปฏิบัติได้ทันที

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า นโยบายเรือธงที่เรามีคำถามว่าเป็นนโยบายเรือธงเพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือเพื่อ 3 นาย เช่น เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่มีการกลับไปกลับมาจนถึงวันนี้เงินก็ยังไม่เข้า พวกตนสนใจว่าเป็นนโยบายเรือทุนที่ให้นายใหญ่ขึ้นหรือไม่ นโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ มีข้อครหาว่าจะมีการเปิดกว้างในขณะประมูลหรือล็อกการประมูลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นนโยบายเรือธงให้กับนายทุนใช่หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายแลนด์บริดจ์ที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงใช้งบงบประมาณของรัฐ การเวนคืนที่ดิน และมีการตั้งคำถามว่าเป็นนโยบายที่เอื้อให้กับนายหน้าค้าที่ดินใช่หรือไม่ สรุป 3 นโยบายเรือธงของรัฐบาลมีประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการ วันนี้พวกตนอยากได้ยินคำตอบจากทุกท่าน

“ประเทศไทยในวันนี้ เราเดินมาจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ อีกหนึ่งวันซึ่งไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรมีวาระโหวตน.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ และพรรคประชาชนยืนยันว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง พวกเรายังยืนยันไปยังสังคมอีกว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างนิติรัฐและหยุดยั้งกระบวนการนิติสงคราม ที่นักการเมืองผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยตรงมาจากประชาชนผู้ที่ทรงอำนาจสูงสุดกำลังถูกถอดถอน ถูกทุบทำลาย ด้วยกลไกทางจริยธรรม สิ่งที่ผมอยากเห็นอยู่ในหัวข้อแรกๆ ที่ไม่ได้มีอยู่ในนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ และควรจะเป็นนโยบายเรือธงเช่นเดียวกันเพื่อให้เจ้านายของท่านไม่ใช่ 3 นาย แต่เป็นประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดนั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากเดิมที่นโยบายนี้เคยเร่งด่วน ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในปี 2566 กลายเป็นไม่ด่วนหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดที่แล้ว และมาวันนี้ผมคิดว่าทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ควรจะกลายเป็นนโยบายเร่งด่วนของท่านได้แล้ว และประชาชนคนไทยทั้งประเทศกำลังรอฟังคำตอบว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลตัวแทนในวันนี้ที่ผมตั้งคำถามว่าอาจจะไม่ใช่รัฐบาลตัวจริงจะช่วยทำให้ 3 ปีต่อจากนี้เป็น3 ปีที่เจ๊ากับเจ๊ง ใช่หรือไม่ถ้าเราไม่กลับไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ“ นายณัฐพงษ์กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนและนายกรัฐมนตรีเพิ่งจะมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในแต่ละซีกฝั่งของการเมืองนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตเช่นเดียวกัน ตนและท่านเกิดและเติบโตมาในสังคมยุคเดียวกัน ถูกหล่อหลอม และผ่านสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศนี้มาแบบเดียวกัน และหากจะระบุให้แฟร์ ตนคิดว่าท่านผ่านประสบการณ์ในชีวิตที่ท่านได้รับผลกระทบทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรั้วมหาวิทยาลัยมาหนักกว่าตนเสียอีก และวันนี้ท่านมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำสูงสุดในฝ่ายรัฐบาล ส่วนตนมาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีจำนวนเก้าอี้สส. มากที่สุดในสภาฯ ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะถูกเสนอชื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้านในอนาคตอันใกล้นี้ สิ่งที่ตนเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ตนและท่านมาอยู่ตรงนี้นอกจากบริบทและสถานการณ์พาไป อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือเราสองคนตัดสินใจ ที่จะมารับตำแหน่งตรงนี้เพื่อเดินหน้าต่อ

“สำหรับผมตัดสินใจที่จะมารับบทบาทตรงนี้ เพื่ออยากนำพายานพาหนะที่มีชื่อว่าอนาคตใหม่ ก้าวไกล และประชาชน ให้เดินหน้าต่อเพื่อทำให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ส่วนท่านในวันสำคัญวันนี้ในขณะที่ครม.มาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทุกคำพูดของท่านมีผลผูกมัดต่อการดำเนินนโยบายต่อจากนี้อีก 3 ปี และผมอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีพูดนอกสคริปต์ที่เจ้าหน้าที่เตรียมมา ซึ่งผมเข้าใจว่า ต้องทำเพราะข้อบังคับตามกฏหมาย แต่ท่านสามารถลุกขึ้นตอบได้นอกสคริปต์ ผมอยากให้ท่านแสดงบทบาทความเป็นผู้นำ ผู้นำที่ดีนอกจากการฟังสมาชิกหรือรับฟังความเห็นแล้ว ต้องชี้นำความคิดที่ถูก ที่ควรให้กับสมาชิก และสังคมด้วยผมอยากให้ท่านชี้นำรัฐบาลของท่านด้วยการลุกขึ้นตอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศนี้” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า เราสามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้ 2 เส้นทางคือ เส้นทางที่แรกไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งดำเนินการไปตามคณะกรรมการที่จัดตั้งมา และอีกส่วนหนึ่งคือที่สามารถดำเนินการได้ทันทีคือเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ควรบรรจุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน 4 เรื่องคือ  1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหามาตรฐานทางจริยธรรมจัดวางตำแหน่งหน้าที่องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามหลักสากล และอีก 3 เรื่องพรรคประชาชนได้เสนอเข้าสู่วาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, การลบล้างผลพวงรัฐประหารโดยการยกเลิกคำสั่ง คสช. และการยุติวงจรอุบาทว์โดยการเสริมสร้างกลไกในการป้องกันการปฏิวัติรัฐประหารในอนาคต ทั้ง 4 เรื่องที่ตนได้กล่าวล่วงเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคประชาชนได้เสนอเข้าสู่สภาไปแล้ว และเราสามารถเดินหน้าร่วมกันได้เพื่อทำให้ระบบการเมืองมีความยืดหยุ่นกับประชาชน และมีประชาชนในสมการการตัดสินใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีหลายวาระที่เราสามารถผลักดันร่วมกันได้ภายใน 3 ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ อาทิ การกระจายอำนาจที่ท่านได้แถลงนโยบายไปแล้ว และการปฏิรูประบบงบประมาณรวมถึงโครงสร้างภาษี หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มสวัสดิการประชาชนที่วันนี้ทุกคนยังได้รับไม่ทั่วถึงและไม่ถ้วนหน้า เป็นต้น

“การที่ผมอภิปรายถึงคำถามและ 1 ปีที่สูญเปล่า เนื่องมาจากการฟอร์มครม.ที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ และ 3 ปีต่อจากนี้ที่ตนมีคำถามว่าจะเจ๊าหรือจะเจ๊ง เพราะนอกเหนือจากการจัดตั้งรัฐบาลแบบเดิมๆ ที่มีการจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีแล้วยังมีการจัดตั้งรัฐบาลแบบตัวแทน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ตนรอฟังคำตอบจากนายกฯ” นายณัฐพงษ์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo