POLITICS-GENERAL

จับตาข้ออ้าง ‘เศรษฐา’ ชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ ปมแต่งตั้ง ‘พิชิต’

จับตาข้ออ้าง “เศรษฐา” ชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ ลุ้นผลวินิจฉัยเป็นคุณต่อประเทศ พร้อมเตือนนโยบาย digital wallet ไม่ควรเดินหน้าต่อ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า…นายกรัฐมนตรีกลับจากเยือนฝรั่งเศส อิตาลี และญึ่ปุ่น ถึงประเทศไทย แรกทีเดียวจะรีบประชุมเพื่อแก้ปัญหาที่ GDP ในไตรมาสแรกขยายตัวเพียง 1.5% ของปีที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่เรื่องนี้คงต้องรออีกนิด เพราะเมื่อรู้ผลว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับวินิจฉัยตามที่ 40 สว.ยื่นร้อง จึงประกาศว่าวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันหยุด จะประชุมกับทนายและทีมงาน เพื่อหารือกันว่าจะชี้แจงตอบคำถามศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร

จับตา

เรื่องภาวะเศรษฐกิจ หวังว่านายกรัฐมนตรีจะอ่านรายงานของสภาพัฒน์อย่างละเอียด เพราะตามที่เลขาธิการสภาพัฒน์แถลง การบริโภคภายในประเทศไม่ได้มีปัญหาเลย เพราะยังขยายตัวได้สูง บางคนที่ว่าประชาชนไม่มีกำลังซื้อเลยจึงไม่น่าจะจริง การท่องเที่ยวก็ไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาก็คือการส่งออกที่ติดลบ การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ดี และปัญหาที่สำคัญคือการลงทุนภาครัฐยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพราะงบประมาณแผ่นดินปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ได้มาเพียงเดือนกว่า

นั่นเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ดึงไว้ไม่ยอมนำเข้าสภาเพราะอยากเปลี่ยนแปลงก่อน ทำให้แทนที่จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 66 ตามปกติ กลับต้องล่าช้ามาถึงเดือนปลายเมษายนปี 2567

หากการบริโภคยังขยายตัวดีตามที่สภาพัฒน์แถลง ก็หมายความว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการแจกเงินแล้วบังคับให้ต้องใช้เงินไม่มีความจำเป็นเลย ดังนั้นนโยบาย digital wallet จึงไม่ควรเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไปกู้เงินมาแจก และขณะนี้มีข่าวว่าจะต้องตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มอีก 1.2 แสนล้านบาท เพราะงบที่ตั้งไว้เดิมไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ นั่นหมายความว่างบประมาณปี 68 ก็จะต้องกู้เพิ่มขึ้นอีก

เช่นนี้แล้ว หากจะยังดึงดันจะเดินหน้าทำเรื่อง digital wallet ต่อ ก็แสดงว่ารัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ทำให้ข้อสงสัยว่าต้องมีผลประโยชน์อื่นๆมาแอบแฝง มีความเป็นไปได้สูง

กลับมาที่กรณีที่นายกรัฐมนตรีถูกยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ หากต้องคิดกันหนักว่าจะต้องชี้แจงตอบคำถามอย่างไร ก็แสดงว่า ไม่อาจชี้แจงไปตามความเป็นจริงได้ จึงต้องแต่งนิทานหาข้ออ้างต่างๆ ข้ออ้างที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ นายกรัฐมนตรีเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า คุณพิชิต ชื่นบาน ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามที่เป็นรัฐมนตรี และก็ได้มีหนังสือสอบถามไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

แต่ปัญหายังมีอยู่ว่า หนังสือตอบของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเอกสารลับหลุดออกมา ทำให้สื่อนำเสนอกันทุกสำนัก ความจึงแตกว่า รัฐบาลสอบถามไปไม่ครบทุกข้อ ถามเท่าที่คิดว่าคำตอบจะออกมาเป็นบวก ไม่ถามข้อที่คิดว่าคำตอบจะเป็นลบ กฤษฎีกาฯก็ฉลาดพอที่จะไม่ฟันธงว่า คุณพิชิตมีคุณสมบัติหรือไม่ แต่ตอบเฉพาะข้อที่ถามมา และตอบเท่าที่จำเป็น ดังนั้นจึงต้องคิดหนักว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ข้ออ้างมีความน่าเชื่อถือ จะด้วยความแค้นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ไม่ทราบ แกนนำพรรคก้าวไกลกลับออกมาปกป้องนายกรัฐมนตรี เหตุผลคือหากนายกรัฐมนตรีจะพ้นตำแหน่ง ต้องพ้นตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ใช้พ้นโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน

การอ้างประชาชน ดูจะเป็นพฤติกรรมปกติของนักการเมืองทุกคนโดยเฉพาะนักการเมืองสังกัดพรรคก้าวไกล แต่จะต้องเข้าใจว่า ในบางเรื่องไปยึดถือประชาชนไม่ได้ หากผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพันจากตำแหน่งจะต้องพ้นเพราะการโหวตในสภาเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นไม่ว่าพวกเขาจะทำผิดจริยธรรม ทำในสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกระทำความผิดเรื่องอื่นๆ แล้วไปตัดสินด้วยการโหวตกันสภา

ดังนั้นใครคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาได้ ก็ไม่มีทางแพ้โหวต คนทำผิดก็ไม่มีวันถูกลงโทษ อย่างนี้ก็ได้หรือ การที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความผิดเพราะทำในสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะนั่นคือหน้าที่ที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่าน มีความรู้ ผ่านการทำงานใหญ่มามากมาย มีความเป็นอิสระ ทั้งยังมีความเที่ยงธรรม มีความเหมาะสมที่จะวินิจฉัยการกระทำของนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องกลัวว่าจะเลือกปฏิบัติ ดังนั้นจึงมั่นใจได้แน่นอนว่าตุลาการทุกท่านจะวินิจฉัยด้วยความเป็นธรรม

หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช้เวลาวินิจฉัยนานจนเกินไป เพราะการบริหารประเทศไม่อาจอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนนานเกินไป มั่นใจว่าผลการวินิจฉัยจะออกมาเป็นคุณต่อประเทศชาติ อย่างแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo