Opinions

‘โรงเรียนบ้านแสนสุข’ โมเดลความสำเร็จ ‘โครงการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน’

Avatar photo
397

“โรงเรียนบ้านแสนสุข” โมเดลความสำเร็จ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” 

ย้อนกลับไปต้นปี 2560 “บ้านแสนสุข” โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ติดแนวชายแดนกัมพูชาแห่งนี้ กำลังนับวันรอที่จะปิดตัวลง เพราะนักเรียนเหลือน้อย ด้วยผู้ปกครองเลือกที่จะให้ลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนใหญ่ ๆ ในตัวอำเภอ

ภารกิจอันยิ่งใหญ่จึงตกเป็นของ “บรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุข ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ที่ต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้โรงเรียนถูกยุบ ด้วยการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนในชุมชน เดินหน้าประชาสัมพันธ์เชิงรุก เชิญชวนผู้ใหญ่ใจดี ผู้มีจิตศรัทธาคนใจบุญในโลกโซเชียล ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อปรับปรุงอาคารเรียน ให้ทุนการศึกษา ซื้ออุปกรณ์การเรียน ทำให้โรงเรียนกลับมาน่าเรียน

SS7 1

จนวันนี้มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 รวม 206 คน เป็นนักเรียนไทย 60 คน ที่เหลือเป็นนักเรียนกัมพูชา และมีครูผู้สอน 12 คน

“ยังจำภาพวันแรก ที่ก้าวมาในโรงเรียนบ้านแสนสุขแห่งนี้ เมื่อ 5 ปีก่อนได้ดี จากโรงเรียนที่เกือบร้าง ใกล้ปิดตัว มีนักเรียนเพียง 39 คน เป็นเด็กไทย 7 คน นอกนั้นเป็นเด็กกัมพูชา มีครูแค่ 4 คน สภาพอาคารถูกทิ้งร้าง พื้นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ โรงเรียนถูกลืมจากผู้คนในหมู่บ้าน เพราะคนในพื้นที่ไม่มีใครเรียน มีแต่เด็กกัมพูชา ขนาดโรงเรียนอยู่ปากซอยแท้ ๆ แต่ไม่มีคนรู้จัก ทุกคนบอกว่าโรงเรียนยุบไปแล้ว”

“แต่ก็ไม่ได้ทำให้หมดกำลังใจ กลับยิ่งอยากพัฒนาที่นี่ให้ดีขึ้น จากวันนั้นถึงวันนี้ โรงเรียนบ้านแสนสุขได้พัฒนาแบบพลิกฝ่ามือ ทั้งระบบการเรียนการสอน การเรียนรู้นอกห้องเรียน และการฝึกอาชีพ จากความตั้งใจ ที่จะให้ที่นี่กลายเป็นโรงเรียนในใจชุมชน” ผอ.บรรจรงค์ บอกอย่างภูมิใจ

SS2

จากการที่โรงเรียนมีทั้งคลองล้อมรอบ ดินดำน้ำดี ผอ.บรรจรงค์ จึงน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยโครงการที่นำเข้ามาเป็นต้นแบบโครงการเพื่อการพัฒนาคือ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” โดยส่งเรื่องขอสมัครไปยังมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท

แม้จำนวนนักเรียนจะไม่เข้าเกณฑ์ แต่ด้วยความตั้งใจจริง ที่ต้องการให้การเลี้ยงไก่ไข่ เป็นทั้งตัวช่วยด้านภาวะทุพโภชนาการในเด็ก และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เข้ากองทุนพัฒนาโรงเรียน จึงพยายามผลักดันจนสำเร็จ มูลนิธิ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้เข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่สำหรับเลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว เมื่อปี 2562 ทำให้มีแหล่งโปรตีนที่สำคัญ เป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน และจำหน่ายเป็นสวัสดิการให้กับชาวชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่สัตวบาลของซีพีเอฟมาให้ความรู้ ให้คำปรึกษาในการเลี้ยง และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการและการสุขาภิบาล

“การเลี้ยงไก่ไข่ที่เพิ่มเป็น 150 แม่ กลายเป็นรายได้หลัก ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนงานอื่น ๆ ได้มากขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาโรงเรียนให้เป็นศูนย์เกษตรพอเพียง พึ่งตนเองได้ และต่อยอดสู่การสอนวิชาการสร้างอาหารให้เด็ก”

SS9

“โดยริเริ่มทำโครงการอื่นๆที่สอดคล้องกัน ทั้งการปลูกผักปลอดสารพิษ ผักสวนครัว ผักสลัดนานาชนิด กล้วย แก้วมังกร ฝรั่ง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กาแฟอาราบิก้า ลูกหม่อน หรือมัลเบอรี่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ที่กลายเป็นแหล่งอาหารมั่นคง ช่วยเหลือเด็ก ๆ และชุมชนรอบข้างได้อย่างมาก กลายเป็นโรงเรียนแนวใหม่ที่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่มีอยู่ได้”

ที่นี่เน้นการเรียนรู้ที่สอดคล้องวิถีชีวิตชนบท มีการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ด้วยกิจกรรมเสริมทักษะชีวิตเป็นหลัก ผ่านแหล่งเรียนรู้ครบวงจรทำให้ “ผลิตได้ ขายเป็น เห็นคุณค่า ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เน้นการฝึกสอนพื้นฐานอาชีพ ที่นักเรียนนำไปต่อยอดใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และอนาคตได้ ควบคู่กับการสร้างครูรุ่นใหม่ที่เข้าใจเด็ก เข้าใจผู้ปกครอง เป็นครูพันธุ์ใหม่ ที่มีจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

SS8

ทุกวันนี้เงินในการพัฒนาโรงเรียน เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของครู และนักเรียนทุกคน โรงเรียนมีรายได้วันละ 1,000 บาท นำมาจ้างครู และบูรณะโรงเรียน นักเรียนมีทุนเรียนฟรี ทั้งอาหาร รถรับส่ง และเสื้อผ้าโรงเรียนจัดให้ทุกอย่าง ทำให้พวกเขา “สุขทุกที่ เพราะที่นี่ แสนสุข”

สำหรับโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ที่มีเด็ก ๆ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนั้น น้องเนตรนภา โซ หรือน้องเนตร นักเรียนชาวกัมพูชา เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า ตนเองอยากช่วยเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อให้มีพื้นฐานอาชีพในอนาคต

แต่ละวันจะทำหน้าที่ให้อาหารไก่ และเก็บไข่ไก่ เพื่อนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน ผลผลิตที่เหลือ นำไปขายที่โรงงานเย็บผ้า ที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน รายได้เข้าบัญชีกองทุนโรงเรียน เป็นทุนต่อยอดโครงการ ที่สำคัญคือ ความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างอาหารปลอดภัยให้กับทุกคนในโรงเรียน และชาวชุมชนทุกคน

ส่วน น้องนิดหน่อย ส่อด นักเรียนชาวกัมพูชา เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ตั้งใจช่วยกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่มาตั้งแต่ต้น บอกว่า หน้าที่หลักคือการดูแลแม่ไก่ ช่วยกันกับเพื่อน ๆ เก็บไข่ไก่ และนำไปขาย

SS3

โครงการนี้ทำให้มีประสบการณ์ตรง ได้ลงมือทำจริง กลายเป็นทักษะอาชีพติดตัว ซึ่งที่บ้านก็เลี้ยงไก่เช่นกัน วิธีการเลี้ยง และการดูแลจากที่โรงเรียน จึงนำไปปรับใช้ได้ รวมถึงทักษะการทำการเกษตรอื่น ๆ ก็สามารถต่อยอดไปทำต่อที่บ้านได้เช่นกัน

วันนี้โครงการเกษตรทั้งหมดภายใต้ “โคกหนองนาโมเดล” ดำเนินการได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน สามารถต่อยอดสู่ “ร้านกาแฟโรงเรียนบ้านแสนสุข” ที่เป็นแหล่งฝึกสอนอาชีพให้กับน้อง ๆ นักเรียน

ขณะที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนยังนำผลผลิตจากโครงการเกษตร ไปให้ผู้ปกครองใช้ปรุงอาหารให้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้เด็ก ๆ ไม่มีปัญหาทุพโภชนาการ และยังแบ่งปันผลผลิตใส่ตู้ปันสุข และทำอาหารแจกให้กับผู้ยากไร้ในชุมชน ผู้ที่ตกงาน รวมทั้งเด็กชายขอบชาวกัมพูชา ที่มารับอาหาร ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้

โรงเรียนบ้านแสนสุขจึงได้รับการยอมรับและถูกยกให้เป็น “ครัวของชุมชน” สมกับการเป็นโรงเรียนที่เป็น Best Practice ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ระดับประถมศึกษาขนาดเล็ก ประจำปี 2562 และรางวัลชนะเลิศระดับเหรียญทอง รางวัลทรงคุณค่า สพฐ. OBEC AWARDS ผู้มีผลงานดีเด่นประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ด้านบริหารจัดการยอดเยี่ยม ระดับประถมศึกษาขนาดกลาง

SS1

นักเรียนโรงเรียนบ้านแสนสุข จึงเต็มไปด้วยความสุข เพราะมีวิชาพึ่งพาตนเองได้ติดตัวกันทุกคน และยังภูมิใจที่ได้เป็นผู้ให้ และผู้ถ่ายทอดความรู้ ให้กับผู้ที่สนใจจากทั่วประเทศที่เข้ามาศึกษาดูงาน

ที่สำคัญ “แสนสุข โมเดล” ของโรงเรียนบ้านแสนสุข ถือเป็นตัวอย่างของความยั่งยืนในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยึดหลักความพอเพียง สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่ต้องการส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชนเข้าถึง “ไข่ไก่” โปรตีนคุณภาพดี ที่จะช่วยลดภาวะทุพโภชนาการแก่เด็กและเยาวชน และสร้างแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนได้อย่างแท้จริง

SS4

อ่านข่าวเพิ่มเติม