Opinions

‘เศรษฐกิจปี 62’ โจทย์ใหญ่ท้าทายรัฐบาลใหม่

Avatar photo
1525

รัฐบาลที่กำลังเร่งเครื่องเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงพรรคการเมืองที่เตรียมนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ในเร็วๆ นี้ ได้สร้างความหวังให้ทั้งประชาชนและทุกภาคส่วนอย่างมาก

จะว่าไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากกว่าปกติว่า เศรษฐกิจไทยและโลกในปี 2562 จะเป็นอย่างไร แต่ที่รับรู้กันได้เวลานี้คือ โลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีความไม่แน่นอนสูงจากหลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาสงบศึกชั่วคราว โดยระงับการขึ้นภาษีสินค้าจีนไปอีก 90 วัน หรือการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 26 ที่ไม่มีการแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ 21 ชาติเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ซึ่งเกิดจากสองมหาอำนาจสหรัฐ และจีนมีจุดยืนที่แตกต่างกันในเนื้อหาแถลงการณ์ร่วม หรือการที่สหราชอาณาจักรอังกฤษตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของยุโรป

แน่นอนว่า ประเด็นเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากก็น้อย

ผมมองว่า เศรษฐกิจไทยที่ควรเร่งหาแนวทางแก้ไขก่อนเรื่องอื่นในปี 2562 มี 2 เรื่อง คือ

1.การส่งออก ที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เห็นได้อย่างชัดเจนว่า 4-5 ปี ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แม้จะมีการประกาศว่าในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2561 การส่งออกโตขึ้นมาก แต่อีกหนึ่งเดือนถัดมา ในเดือนกันยายนการส่งออกกลับลดลงอย่างมาก

เมื่อเข้าไปดูสถิติของกระทรวงพาณิชย์พบว่า การส่งออกในช่วง 10 เดือน ของปี 2561 โดยการคำนวณในรูปเงินดอลลาร์ ขยายตัวถึง 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากคำนวณในรูปเงินบาท การส่งออกโตขึ้นเพียง 1.5% เท่านั้น อาจเป็นเพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้นมากในช่วงนั้น จะเห็นได้ว่า การส่งออกไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องเร่งแก้ไข

นอกจากนั้น เรื่องการลงทุนต่างประเทศ ก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ปัจจุบันนี้รัฐบาลใช้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นธงนำ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยไปต่อยอดโครงการการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่เคยประสบผลสำเร็จมาก่อนหน้านี้มาแล้วกว่า 30 ปี แต่กรณี EEC ยังคงมีอุปสรรคหลายประการ ที่ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วตามที่ตั้งใจไว้

เนื่องจากระยะเวลาที่รัฐบาลประกาศนโยบาย EEC จนถึงวันออกกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ใช้เวลาถึง 3 ปี ทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต่าง ๆ อย่าง สนามบิน ท่าเรือ รถไฟ เป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้นักลงทุนชะลอนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุน เนื่องจากต้องการเห็นโครงสร้างพื้นฐานมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมเสียก่อน ประกอบกับจะมีการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า ใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล และนโยบายการลงทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

farmer thailand

2. เศรษฐกิจรากหญ้า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้ติดตามและเสนอความคิดเห็นในบทความหลายตอนไปแล้วว่า คนชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในชนบทของประเทศไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นน้อยมาก ในบางพื้นที่ก็มีรายได้ลดลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ มีรายได้ลดลง ซึ่งก็หมายความว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้โตจากฐานรากของเศรษฐกิจรากหญ้าและชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นฐานที่ใหญ่สุดของประเทศ แต่กลับขยายตัวจากเศรษฐกิจในระดับบนเท่านั้น

จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลหน้าว่า จะทำอย่างไรให้หนี้สินครัวเรือนลดลง ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เศรษฐกิจรากหญ้าด้วย

ผมขอมองข้ามช็อตไปข้างหน้า โดยปกติบ้านเมืองเมื่อกลับสู่ประชาธิปไตย และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เศรษฐกิจมักจะดีขึ้น สำหรับรัฐบาลหน้า ที่จะเข้าบริหารเศรษฐกิจ จะเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง ตั้งแต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มจะขยายตัวน้อยลง การจัดหารายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้นได้อย่างไร บริหารหนี้สาธารณะก้อนโตให้ลดลง (ในช่วงรัฐบาลนี้ ไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นกว่า 7% ของ GDP ส่วนที่เป็นหนี้สาธารณะคงค้างรวม ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 จำนวน 6,762,750.43 ล้านบาท)

นอกจากนั้น เรื่องการกระจายอำนาจ กระจายรายได้ไปสู่ชนบท ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่การส่งออก และสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนจากต่างประเทศกลับเข้ามาอีกครั้ง

ที่สำคัญ หากเราจะรักษาภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจและไม่ให้เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกมากจนเกินไปต่อไปได้ การเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้งจะต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามมาด้วย รัฐบาลที่มีผู้นำและทีมเศรษฐกิจที่มีความสามารถ และบริหารงานอย่างโปร่งใสครับ