Opinions

หุ้นพลังงานทดแทนสะเทือนทั้งบาง…

Avatar photo
EcoIndy คิดต่างสร้างสรรค์
1037

S 18595849

พลันที่ออเจ้า “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่ใสกิ๊ก ออกมาให้ความเห็นว่า มีแนวคิดที่จะชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพราะไทยไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้า และมีไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ใน 5 ปีข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นโครงการใหม่

โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบ จากนโยบายออเจ้า รมว.พลังงานคนใหม่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งในรูปแบบโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) รวมทั้งโรงไฟฟ้าขยะ

กดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนดำดิ่งกันถ้วนหน้า

666หน่วย : บาท
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ทำเอาผู้บริหารบางบริษัทถึงขั้นต้องเข้าไปเก็บหุ้นในกระดาน บางรายพร้อมประกาศซื้อหุ้นคืนเลยทีเดียว

เริ่มจาก บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ที่ “จอมทรัพย์ โลจายะ” ประธานคณะกรรมการ ออกมาให้ความเห็นว่า ระหว่างวันที่ 4-5 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เข้าไปซื้อหุ้นในกระดานจำนวน 60 ล้านหุ้น หลังราคาดำดิ่งลงแตะที่ระดับ 0.88 บาท
ก่อนที่ราคาหุ้น SUPER จะเด้งกลับรับข่าวผู้บริหารเก็บหุ้นในกระดาน มาปิดที่ 1.04 บาท เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ที่ราคาทิ่มหัว ลดลงต่ำสุดแตะที่ 2.64 บาท เมื่อวันที่ 10 เม.ย.

หลังจากนั้นผู้บริหาร GUNKUL ก็ออกมาให้ความเห็นว่า บอร์ดอนุมัติซื้อหุ้นคืนวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อสูงสุดไม่เกิน 300 ล้านหุ้น

หนุนราคาหุ้น GUNKUL เด้งกลับมาปิดตลาดที่ 3.04 ในวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา

แต่รายที่ช้ำหนัก…คงหนีไม่พ้น บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ที่ราคาทรุดตัวลงต่ำกว่าราคาไอพีโอ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

โดย TPCH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558 ราคาไอพีโอที่ 12.75 บาท ราคาพาร์ 1 บาท

ราคาหุ้น TPCH ลดลงต่ำสุดแต่ะที่ระดับ 8.85 บาท ในวันที่ 9 เม.ย. ก่อนที่จะฟื้นตัวมาปิดตลาดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ 9.95 บาท ซึ่งผู้บริหารให้ความเห็นว่า มีแผนซื้อหุ้นคืนเช่นเดียวกัน แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ในขณะนี้…

ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่า หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน ลดลงต่อเนื่อง หลังจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนช่วง 5 ปี (2561-2565) เป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อกลุ่มพลังงานทดแทน

เพราะปัจจุบันปริมาณซัพพลายไฟฟ้าของไทยอยู่ในภาวะล้นตลาด มีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงกว่า 30% เมื่อเทียบกับระดับปกติที่ 15%

…ทำให้ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาดว่าจะไม่มีการประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) รอบใหม่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้

โดยปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทำได้ 8,600 เมกะวัตต์ คิดเป็น 43.9% ของกำลังการผลิตตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ฉบับปี 2558-2579 ที่ 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ เป็นแผนระยะยาว 20 ปี จึงเหลือกำลังการผลิตอีกราว 1.1 หมื่นเมกะวัตต์ ที่จะเกิดช่วง 19 ปีนี้ เฉลี่ยตกปีละแค่ 580 เมกะวัตต์เท่านั้น การเปิดประมูลจึงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับนักลงทุนที่ยังคงสนใจลงทุนหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน….

บล.เอเซีย พลัส แนะเลือกหุ้นผู้ประกอบการที่มีกำลังผลิต (Backlog) ในมือจำนวนมาก สามารถผลักดันการเติบโตช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เช่น GUNKUL ราคาเหมาะสม 5.05 บาท เพราะมี Backlog ถึง 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 279 เมกะวัตต์ ทยอยผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป

ขณะนักวิเคราะห์บางราย มองว่า ในอนาคต…หุ้นพลังงานทดแทนความสนใจจะลดน้อยลง โดยเฉพาะบริษัทที่มีขนาดเล็ก รายได้ส่วนใหญ่มาจากโรงไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งในอนาคตจะมองไม่เห็น Growth

ทำให้บริษัทที่มีฐานทุนแน่น มีการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ จะมีความน่าสนใจมากกว่า

คำว่าจบ…พูดเบาๆก็เจ็บจริงๆ สำหรับหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในเพลานี้