โรคเบาหวาน ถือเป็นโรคติดอันดับหนึ่งในประเทศไทยมาโดยตลอด โรคเบาหวาน เป็นกลุ่มอาการโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ถือเป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ หรือ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดการสะสมน้ำตาลในเลือดเป็นจำนวนมาก
และแน่นอน!! หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาพน้ำตาลสูงนาน ๆ จะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อม และจูงโรคต่าง ๆ มาถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยมาก โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่พบบ่อยมากในผู้สูงอายุ
โรคเบาหวาน มีอาการอย่างไร?
อาการหลัก ๆ ที่พบบ่อยและเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เช่น รู้สึกหิวบ่อย, กระหายน้ำ, ปัสสาวะมีปริมาณเยอะและบ่อย และอาการต่าง ๆ ดังนี้
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- ผิวแห้ง เกิดอาการคันบริเวณผิว
- ตาแห้ง
- มีอาการช้าที่เท้า หรือ รู้สึกเจ็บแปลบ ๆ บริเวณปลายเท้า หรือที่เท้า
- ร่างกายซูบผอมลงผิดปกติ โดยไม่รู้สาเหตุ
- เมื่อเกิดบาดแผลที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย มักหายช้ากว่าปกติ
โรคเบาหวาน เป็นแล้วจะหายมั๊ย?
อย่างที่กล่าวข้างต้น โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน โดยเมื่อเรากินอาหารเข้าไป ร่างกายก็จะทำการย่อยแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) เป็นน้ำตาลกลูโคส แล้วจึงดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่หากตับอ่อนผิดปกติ ไม่สามารถที่จะสร้างอินซูลินได้ หรือ สร้างได้น้อย หรือตอบสนองอินซูลินลดลง ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เวลาเลือดเดินผ่านไต น้ำตาลส่วนหนึ่งก็จึงถูกขับออกทางไตผ่านปัสสาวะ จึงเรียกว่า “เบาหวาน ”
ปัจจุบัน ตามหลักการแพทย์ตะวันตกอธิบายว่า ยังไม่มีวิธีการรักษาใด ๆ ที่ทำให้โรคเบาหวานหายขาดได้ 100% เพียงแต่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถเข้าสู่ระยะสงบของโรคได้ (remission) คือ ไม่แสดงอาการ และมีค่าน้ำตาลในเลือดอยู่ในค่าปกติ และภาวะสงบนี้ อาจจะยาวนานได้เป็นเดือน ๆ เป็นปี หรือหลายสิบปี ก็ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล
เป็นโรคเบาหวานแล้ว เสี่ยงจูงโรคอะไรมาบ้าง?
- ความดันเลือดสูง
จากเบาหวานเป็นความดัน จากความดันเป็นโรคหัวใจ พบได้บ่อยมาก หลายคนเข้าใจว่าโรคเบาหวาน เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่จริง ๆ แล้วกลับพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักเสียชีวิตเพราะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มากเป็นอันดับหนึ่งเลยทีเดียว และเมื่อคนที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีความดันเลือดสูงตามมาด้วย ส่งผลกระทบและสร้างความยุ่งยากในการใช้ชีวิตไม่น้อย ทั้งเบาหวาน และความดันเลือดสูง มีความเชื่อมโยงกัน
จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่พอ และส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงนั้น 1 ใน 3 จะเป็นโรคความดันเลือดสูงด้วย ผลของโรคหนึ่งจะมีแนวโน้มทำให้อาการของอีกโรคแย่ลง ซึ่งโรคเบาหวานจะไปลดความสามารถในการขยายตัวของเลือด และทำให้ร่างกายจัดการกับอินซูลินได้ไม่เหมือนเดิม ส่งผลให้ความดันเลือดสูงขึ้น โรคเบาหวานกับความดันเลือดสูง มักมาคู่กันเพราะมีปัจจัยเสี่ยงเหมือนกัน เช่น น้ำหนักเกินมาตรฐาน ทานอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกาย และไม่ชอบออกกำลังกาย เป็นต้น
- ไขมันในเลือดสูง
ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่พบบ่อยร่วมกับโรคเบาหวาน เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไขมันไม่ดี LDL ที่มากเกินไปในกระแสเลือด จะไปอุดตันผนังหลอดเลือดให้เกิดความเสียหายได้ เมื่อเวลาผ่านไป คราบไขมันอาจทำให้เกิดหลอดเลือดหนาขึ้น (หลอดเลือดแดงแข็ง) และสามารถปิดกั้นหลอดเลือดแดงหยุดการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ (โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) หรือสมอง (โรคหลอดเลือดสมองตีบ) ไตรกลีเซอไรด์สูง และไขมันตัวดี HDL ต่ำ เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน
เนื่องจากการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นได้ และภาวะที่ไขมันดี HDL ต่ำ จะส่งผลลดการกำจัดไขมันเลว LDL ออกจากกระแสเลือด ทำให้ไขมันเลว LDL สูงมีส่วนทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว และเมื่อหลอดเลือดแดงแข็งตัว จะส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ
- โรคหลอดเลือดหัวใจ (โรคหัวใจ)
อาการเจ็บหน้าอกของโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยเบาหวาน มักไม่ชัดเจน เนื่องจากมักมีปัญหาที่ปลายประสาทรับความรู้สึกเสื่อมสภาพร่วมด้วย ทำให้การวินิจฉัยโรค เป็นได้ยากกว่าปกติ อาการอื่นที่ทำให้สงสัยว่า อาจเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ อาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ อาการแน่นอึดอัดบริเวณกลางหน้าอกข้างซ้าย หรือลิ้นปี่ อาการปวดร่วที่ท้องแขนด้านใน หน้ามืด เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น อาการเหล่านี้ ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบปรึกษาแพทย์
จะเห็นได้ว่า เราต้องลดที่สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน จะดีที่สุด โดยสิ่งที่สำคัยของการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน คือ หมั่นระวังระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และสารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเน้นการออกกำลังกาย เพียงเท่านี้ เราก็สามารถมีชีวิตที่ปลอดจากโรคเบาหวานได้อย่างง่าย ๆ พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
(เครดิต : A Guide to Living with Diabetes and High Cholesterol, www.healthline.com, Cholesterol and Diabetes, www.diabetes.org.uk, www.paolohospital.com, www.ram-hosp.co.th, www.i-kinn.com)
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เปิด 9 เมนูดับร้อน แคลน้อย ไม่อ้วน!!
- เป็นเบาหวาน-ความดันสูง กินทุเรียน ได้มั๊ย?
- กินแบบไหน….น้ำตาลขึ้นสูงชัวร์!!