Opinions

มาตรการฟื้นฟูฯ พระรองที่พึ่งได้ในยุคโควิด

Avatar photo
247

หากเปรียบวัคซีนเป็นพระเอกขี่ม้าขาวที่ทุกคนตั้งตารอให้มากอบกู้บ้านเมือง เพื่อให้คนไทยมั่นใจที่จะออกมาใช้จ่าย และทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ระหว่างที่พระเอกยังมาไม่ถึง ต้องยอมรับว่านี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเศรษฐกิจไทย

จากปีก่อนที่โควิดระลอกแรกผลักเราตกเหวลึก เศรษฐกิจหดตัวถึงร้อยละ 6.1 จนมาปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ครึ่งหนึ่ง แต่หากสถานการณ์การระบาดยังยืดเยื้อ และไม่สามารถควบคุมได้ภายในครึ่งปีแรก เราอาจฟื้นตัวได้ราว 1 ใน 3 เท่านั้น แม้จะมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่องก็ตาม

มาตรการฟื้นฟู

ปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอน ทั้งภาพการระบาดในหลายจุด ไวรัสที่กลายพันธุ์ และการควบคุมโรคที่ยากขึ้น เป็นสิ่งที่ ธปท. ได้ตระหนักถึงและใช้เป็นกรอบคิดในการจัดทำนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยเฉพาะล่าสุดคือ มาตรการฟื้นฟูฯ หรือ “พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564” ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 64 นั้น ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ

(1) สินเชื่อฟื้นฟูฯ วงเงิน 250,000 ล้านบาท ที่ได้ปลดล็อคเงื่อนไขของ พ.ร.ก. Soft Loan ปี 63 เพื่อให้ SMEs ที่มีศักยภาพเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น สามารถประคับประคองกิจการ และพยุงการจ้างงานผ่านเส้นทางวิบากนี้ไปได้

(2) โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset warehousing) วงเงิน 100,000 ล้านบาท เป็นกลไกใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักและใช้เวลานานในการฟื้นตัว ให้ไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงินหรือถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์สิน (fire sale) และมีโอกาสกลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งมีส่วนช่วยรักษาศักยภาพของภาคธุรกิจที่สำคัญไว้ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ให้พร้อมกลับมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศอีกครั้งในระยะยาว

มาตรการฟื้นฟูฯ ซึ่งเริ่มใช้เมื่อ 26 เม.. 64 แทบจะพร้อมกับการระบาดระลอกสาม  จึงต้องรับบทเป็นพระรองที่แม้จะคิดมาดีอย่างไร ก็คงไม่ถูกใจในทุกด้าน แต่นั่นก็ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการส่งผ่านมาตรการไปสู่ผู้ที่เดือดร้อน โดย ณ วันที่ 31 พ.ค. 64 สินเชื่อฟื้นฟู มีการเบิกใช้แล้ว 20,839 ล้านบาท แก่ SMEs 8,218 ราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 2.5 ล้านบาทต่อราย และถือว่าสินเชื่อกระจายตัวถึงผู้ได้รับผลกระทบได้ค่อนข้างดี ทั้งในมิติขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค

ดังรูปที่แสดงว่าร้อยละ 59 ของผู้ได้รับสินเชื่อเป็น SMEs ขนาดเล็ก ร้อยละ 69 อยู่ในธุรกิจพาณิชย์ และบริการ และร้อยละ 66 เป็นกิจการในต่างจังหวัด อีกทั้งยังเริ่มเห็นสัญญาณการปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ใหม่ที่ไม่เคยใช้สินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นจุดที่สินเชื่อฟื้นฟูฯ ได้ปรับขยายให้ โดยล่าสุดในสัปดาห์นี้มีการยื่นขอสินเชื่อฟื้นฟูฯ เพิ่มอีกกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 4 ราย ยอดอนุมัติ 910 ล้านบาท ทั้งหมดอยู่ในธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบหนัก

ความคืบหน้าโครงการในช่วงเดือนแรกนั้น แม้จะไม่หวือหวา แต่ก็ไม่ผิดจากที่คาดนัก โดยในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู ได้ประเมินไว้ว่าความต้องการสินเชื่อจะทยอยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ใน 3 ระยะ คือ ประคับประคอง กลับมาเปิดกิจการ และลงทุนปรับรูปแบบธุรกิจ จึงไม่น่าแปลกใจว่าในช่วงแรกที่ยังมีการระบาดนี้ ความต้องการสินเชื่อจะเป็นไปเพื่อใช้หมุนเวียนจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างของ SMEs สายป่านสั้นที่ถูกซ้ำเติมเป็นหลัก ในระยะถัดไป เมื่อพระเอกของเรามาถึง สามารถทยอยฉีดวัคซีนจนลดการแพร่ระบาดได้ ก็น่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อกลับมาเปิดกิจการและปรับรูปแบบธุรกิจรองรับโลกยุคหลังโควิด ซึ่งในช่วงฟื้นฟูนั้น ... ฉบับนี้ก็ได้ออกแบบไว้รองรับแล้ว โดยเผื่อระยะเวลายื่นกู้ไว้ถึง 2 ปี และคาดว่าสินเชื่อในระยะถัดไป อาจมีลักษณะเป็น term loan ที่ยาวถึง 10 ปี ตามกลไกการค้ำประกันที่ได้ปรับเงื่อนไขและเพิ่มอัตราการชดเชยความเสียหายให้รองรับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น

ในระหว่างที่รอกองทัพวัคซีนมาสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เรียกคืนความมั่นใจนั้น ทุกภาคส่วนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างประสานความร่วมมือเพื่อลดอุปสรรคและเร่งตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจที่เดือดร้อนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น อาทิ โครงการของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับสถาบันการเงิน ที่จัดทำแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลทางการเงินระหว่างห้างขนาดใหญ่และ SMEs คู่ค้า เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูในลักษณะ “supply chain lending” ตลอดจนสร้างกลไกหักค่าขายสินค้าและบริการของร้านค้าในการชำระคืนหนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่สถาบันการเงิน ลดปัญหาความไม่เพียงพอของข้อมูล ร่นระยะเวลาการพิจารณาปล่อยกู้ และเร่งกระจายเม็ดเงินสู่ SMEs ที่ขาดสภาพคล่องได้ตรงเป้าหมายยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่มีรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการพิจารณาตีโอนทรัพย์ชำระหนี้รวมถึงเช่าทรัพย์เพื่อดูแลหรือเปิดดำเนินการ จึงต้องอาศัยระยะเวลาที่สถาบันการเงินกับลูกหนี้จะต้องเจรจาตกลงเป็นรายกรณี อย่างไรก็ดี ธปท. ได้กำชับสถาบันการเงินให้เร่งหาข้อสรุปร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ช่วยเหลือได้อย่างทันการณ์ ทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งจากผลสำรวจของสมาคมโรงแรมไทยล่าสุดพบว่า หลายแห่งให้ความสนใจและอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงิน จึงน่าจะเห็นการทยอยอนุมัติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังจาก ครม. ได้พิจารณาอนุมัติการยกเว้นภาษีค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทั้งหมดแล้วเมื่อ 18 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้จริงในเร็ววันนี้

ดังนั้น มาตรการฟื้นฟูฯ ที่ได้เปิดตัวไป แม้จะไม่ใช่พระเอก แต่ก็ถือว่าเป็นพระรองที่มาได้ทันเวลา ช่วยเพิ่มทางเลือกในการบริหารสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้แก่ธุรกิจ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้ โดย ธปท. ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ จะติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของมาตรการอย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินผลกระทบภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการให้ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างเหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์

ผู้เขียน :
เมธินี เหมริด
ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2
สุขใจ ว่องไวศิริวัฒน์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
จิตา จีรเธียรนาถ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม: