COLUMNISTS

กินแบบไหน….น้ำตาลขึ้นสูงชัวร์!!

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
918

ขึ้นชื่อว่า โรคเบาหวาน ใคร ๆ ก็รู้จัก และคนไทยส่วนใหญ่เป็นกันเยอะมาก เรียกว่า ติดอันดับหลายปีซ้อน จากข้อมูลสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF) พบผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกประมาณ 530 ล้านคนในปี 2561 และคาดการณ์อย่างแม่นยำว่า จะมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากถึง 720 ล้านคนในปี 2589 สำหรับสถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย พบว่า คนไทยช่วยอายุ 20-79 ปี เป็นโรคเบาหวานมากถึง 8.3% อธิบายง่าย ๆ คือ ใน 100 คนไทย จะเป็นโรคเบาหวานมากถึง 8 คน! และที่สำคัญคือ จำนวนมากกว่าครึ่ง ยังไม่รู้ตัวเองว่าเป็นเบาหวาน (เสียด้วยซ้ำ)

เบาหวาน เป็นแล้ว รักษาไม่หายขาด!

โรคเบาหวาน ถือเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรัง ที่รักษาไม่หายขาด ด้วยเพราะโรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ในกระแสเลือดมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติ สาเหตุมาจาก ขาดฮอร์โมนอินซูลิน เป็นเหตุให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายเราเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะอื่น ๆ ได้ง่าย เช่น ตา ไต รวมไปถึงระบบประสาท ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า เราจะรู้ว่าโรคเบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดความผิดปกติของกระบวนการใดในร่างกาย แต่สาเหตุของการเกิด ก็ยังไม่ถูกระบุแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่า มันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน ที่เกิดจากทั้ง พันธุกรรม และ การดำเนินชีวิตของตัวเราเอง หรือเรียกว่า Lifestyle ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน นั่นเอง

photo 1556742524 750f2ab99913

โรคเบาหวาน มีอาการอย่างไร?

ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคเบาหวาน มักจะมีอาการ แบบรู้สึกหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก อีกทั้งยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • ตาแห้ง
  • เหนื่อย อ่อนเพลีย
  • ผิวแห้ง เกิดอาการคันผิว
  • มีอาการชาที่เท้า หรือรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่ปลายเท้า
  • ร่างกายซูบผอมลง แบบหาสาเหตุไม่ได้
  • เมื่อเกิดบาดแผล มักหายช้ากว่าปกติ

ความสำคัญอินซูลินต่อร่างกาย

อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย สร้างและหลั่งออกมาจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน มีหน้าที่พาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อเผลาผลาญและเป็นพลังงานที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต และถ้าร่างกายขาดอินซูลิน เป็นให้ภาวะน้ำตาลในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งนอกจากจะมีความผิดปกติในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตแล้ว ก็ยังมีความผิดปกติในด้านการสลายตัวของไขมันและโปรตีน ร่วมด้วย

ในครอบครัวไม่มีใครเป็นเบาหวานเลย เราจะไม่เป็นเบาหวาน?

ขออธิบายว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ถึงแม้ว่า ในครอบครัวไม่มีใครเป็นเบาหวานเลย แต่ถ้าเรามีพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการทานอาหารเน้นของหวาน มัน ก็สามารถเป็นเบาหวาน ได้เช่นกัน

8 พฤติกรรมการกิน น้ำตาลขึ้นสูงชัวร์

หนึ่งในวิธีรักษาระดับน้ำตาลในร่างกายคงที่ คือการควบคุมพฤติกรรมในการทานอาหาร เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง ฯลฯ วันนี้ผู้เขียนจะพามาดูกันว่า อะไรบ้างที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

  • ชอบทานอาหารประเภทแป้ง

ประเภทพวก ก๋วยเตี๋ยว ข้าว ขนมปัง เผือก ของทอดทุกชนิด ฯลฯ อาหารเหล่านี้มีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าน้ำตาล ซึ่งการทานอาหารกลุ่มนี้ เรียกได้ว่า เสมือนเราทานน้ำตาล เพราะเมื่อย่อยแล้ว แป้งจะถูกแปรรูปไปเป็นน้ำตาล หากนานมากเกินไป ก็จะไปสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่หากต้องการทานคาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพ แนะนำ ทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้อง

  • ไม่ทานอาหารมื้อเช้า

หลายท่านทราบกันดีอยู่แล้วว่า มื้อเช้า สำคัญกับร่างกาย ซึ่งเมื่อเราไม่ทานมื้อเช้าแค่วันเดียว สามารถส่งผลเสียต่อระดับน้ำตาลในเลือดเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีตัวสร้างอินซูลินให้กับร่างกายนั่นเอง

  • ชอบทานผลไม้หวานจัด

แน่นอน ผลไม้แต่ละชนิดมีคาร์โบไฮเดรตแตกต่างกัน ซึ่งคาร์โบไฮเดรตในผลไม้ จะอยู่ในรูปแบบของน้ำตาล โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน มีน้ำตาลมากถึง 30 – 35% ส้ม มีน้ำตาลมากถึง 10% มะขามหวาน มีน้ำตาลมากถึง 75 – 80% ซึ่งผลไม้ที่มีรสหวานมาก ๆ ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นตามไปด้วย

  • หนักทานมื้อเย็นเยอะ

จากผลการวิจัย พบว่า คนที่ชอบทานหนักอาหารมื้อเย็น มีส่วนทำให้น้ำตาลในร่างกายสูง กว่าคนที่เน้นทานอาหารมื้อเช้า ฉะนั้น เราควรเน้นทานอาหารมื้อเช้าเยอะนิดนึง แล้วลดอาหารมื้อเย็นจะดีกว่า (แถมไม่อ้วนด้วยค่ะ)

  • ขาดการออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย ถือเป็นหนึ่งวิธีช่วยเผาผลาญไขมันในเลือดร่างกาย (คอเลสเตอรอล) และการออกกำลังกาย ไม่เพียงแต่ช่วยลดกลูโคสในเลือด แต่ยังช่วยเพิ่มอินซูลินในร่างกายอีกด้วย

  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

ในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวาน จะทราบดีว่า ควรเลี่ยงสารให้ความหวานต่าง ๆ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ใส่ในอาหาร หรือ กาแฟ ล่ะก็ ช่วยจำกัดปริมาณ ไม่ใช้มากเกินไป

  • ชอบอาหารทอด อาหารไขมันสูง

ทานอาหารทอด อาหารมัน เยอะ ไม่เพียงแต่จะเสี่ยงต่อการมีไขมันในเลือดสูง (คอเลสเตอรอลสูง) ยังทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอีกด้วย แถมส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย

  • ความเครียด

ความเครียด จะส่งผลให้ระดับอินซูลินในร่างกายได้รับผลกระทบโดยตรง แนะนำ พยายามอย่าเครียด นั่งสมาธิ เพราะจริง ๆ แล้ว ความเครียด เป็นสาเหตุของทุกโรค จริง ๆ ค่ะ

photo 1600470944938 b301e41001c8

การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงเป็นเวลานาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญส่งเสริมทำให้เป็นเบาหวานได้ หากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาเพียงพอ นอกจากนี้ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว มีผลต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ก็ควรหลีกเลี่ยง

เรื่องของน้ำตาลในเลือด เป็นสิ่งหนึ่งที่หลายคนกังวล เพราะคนไทยเป็นโรคเบาหวานกันเยอะมาก หลายคนเข้าใจผิดว่า คนที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องมีรูปร่างอ้วนท้วม เพราะหลายท่านที่เป็นโรคเบาหวาน ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอ้วน หรือว่าคนที่มีไขมันในเลือดสูง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับคนผอม แน่นอนทุกอย่างขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการทานอาหาร การใช้ชีวิต และกรรมพันธุ์ ดังนั้น ท่านใดที่รู้ตัวว่าอาจอยู่ในภาวะเสี่ยง ควรเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ

(credit : what to eat and avoid : 10 food for diabetes, www.medicalnewstoday.com, Diabetic Food List : Best and Worst Choices, www.webmd.com , www.bangkokhospital.com, www.i-kinn.com)

อ่านข่าวเพิ่มเติม