Opinions

Data Science ศาสตร์มาแรงของธุรกิจยุคดิจิทัล

Avatar photo
654

ในยุคที่ “ดาต้า”กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในองค์กรต่างๆ ศาสตร์ที่มาแรงคงหนีไม่พ้น “Data Science” หรือ “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” ที่คนทั่วไปอาจนึกภาพไม่ออกว่าคืออะไร และมีลักษณะอย่างไร ธุรกิจจะได้ประโยชน์อะไรจากศาสตร์นี้

ทรู ดิจิทัล พาร์ค จัดงานเสวนา “Tech Supper Club #2” หัวข้อ “Technology and Data Science for Business Growth” เชิญนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) จากองค์กรชั้นนำ ร่วมพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ของศาสตร์ฮอตแห่งยุคนี้

โดยมี 3 กูรูแถวหน้าแห่งวงการเทค ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ Skooldio สถาบันสอนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และนักพัฒนา จาก กูเกิล, ชารินทร์ พลภาณุมาศ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จาก BridgeAsia ธุรกิจที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและบิสิเนสโซลูชั่นด้านการแพทย์  และ ชิตพล มั่งพร้อม
ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Zanroo (แสนรู้) มาร์เทค (Marketing Technology) สตาร์ทอัพ

Ip6qlOGQ

“ดาต้า”กับความท้าทาย

ความท้าทายของวิทยาศาสตร์ข้อมูลในมุมมองของ ดร.วิโรจน์  ที่มีประสบการณ์ทั้งทางด้านวิชาการและการร่วมงานกับกูเกิลและเฟซบุ๊ก มองว่าความท้าทาย คือ การไม่มีดาต้าหรือคลังข้อมูลที่ใหญ่พอจะพยากรณ์สิ่งที่ต้องการ และจะเก็บข้อมูลที่ตอบโจทย์ได้อย่างไร เช่น ธนาคารอาจต้องการนำเสนอบัตรเครดิตที่เหมาะสมกับลูกค้า ธนาคารจะต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของลูกค้า บางธนาคารอาจจะมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์อย่างไร

“นักศึกษาด้านนี้บางคนไม่ทราบว่าจะวิเคราะห์ ตีความข้อมูลที่มีเพื่อใช้พยากรณ์ได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลคนเดียวเท่านั้น ทุกคนในบริษัทควรจะมีไอเดียเรื่องข้อมูลแบบนี้ด้วย จึงจะเกิดประโยชน์” ดร.วิโรจน์ กล่าว

ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล
ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล

ต่อมุมมองด้านความท้าทายของ ชารินทร์  ผู้ซึ่งมีพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์และการตลาด รวมทั้งเคยร่วมงานกับ Shopee เห็นว่า “ความท้าทายปัจจุบันคือ การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับดาต้า ความสามารถในการเปลี่ยนความรู้ในสาขาต่างๆ ให้เป็นวิทยาศาสตร์ข้อมูล นอกจากนี้จุดมุ่งหมายของการใช้เทคโนโลยีก็สำคัญ บางครั้งผู้บริหารอาจบอกว่า ต้องใช้ AI แต่ก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมต้องใช้ จะใช้เพื่อแก้ปัญหาอะไร จะใช้อย่างไร จะมีตัวชี้วัดอะไร เป็นต้น

ดาต้ากับความท้าทายสำหรับเจ้าของธุรกิจอย่าง ชิตพล  มองว่าความท้าทายมีสองด้าน ด้านแรก คือคนมักไม่เข้าใจว่าอะไรคือดาต้าและบิ๊กดาต้าคืออะไร รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลบางคน ไม่มีแนวคิดด้านธุรกิจ อาจไม่สามารถมองได้ว่าจะแปรเปลี่ยนดาต้าให้เกิดผลทางธุรกิจได้อย่างไร

ด้านที่สองคือ การมีข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน เพราะโลกปัจจุบันมุ่งที่ประสบการณ์ของลูกค้า “Customer experience is the king” ลูกค้าซื้อเพราะได้รับการปฏิบัติอย่างดี และเมื่อลูกค้ามีปัญหา บริษัทก็ต้องเก็บข้อมูลส่วนนี้ด้วย เพื่อรักษาประสบการณ์ที่ดีไว้ให้ได้

พบปัญหาขาดแคลนบุคลากร

ในยุคที่ดาต้ายิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สายงาน “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” เป็นที่ต้องการ แต่พบว่าคนทำงานด้านนี้ยังขาดแคลน ดร.วิโรจน์ ให้ความเห็นว่าการพัฒนาคนต้องใช้เวลา แต่คนทำงานบางคนก็ต้องการทางลัด จึงไม่อยู่กับองค์กรนาน สิ่งแวดล้อมในบริษัทต้องเอื้ออำนวยด้วย เช่น มีโครงสร้างพื้นฐานและมีข้อมูล ควรมีทีมสื่อสารเรื่องดาต้ากับเขาเพื่อเปลี่ยนปัญหาทางธุรกิจให้เป็นโจทย์ที่เขาสามารถนำไปทำงานต่อได้ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับทีมงานหรือรุ่นพี่ที่ต้องช่วยดูแล รวมถึงมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่จำเป็น”

ด้าน ชิตพล ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ ชี้ประเด็นว่าในวงการไม่ได้ขาดแคลนเพียงนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเก่งๆ ที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังขาดโปรแกรมเมอร์ ทั้งระบบส่วนหน้าและส่วนหลังด้วย

ชิตพล มั่งพร้อม
ชิตพล มั่งพร้อม

ในประเด็นบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ชารินทร์ ยังกล่าวเสริมว่า บริษัทหลายแห่งไม่ต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจำนวนมาก แต่ปัญหาในไทยคือการขาดข้อมูลและโครงสร้างข้อมูล “สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล แต่ที่วงการต้องการก่อนคือ วิศวกรข้อมูล ผู้วางพื้นฐานต่างๆ ต้องมีการวางแผนข้อมูล มีโมเดล มีข้อมูลการใช้และความสัมพันธ์กับระบบ (Use Case) สิ่งที่สำคัญกว่าการรับคนที่ชอบทำงานวิเคราะห์ คือการเตรียมข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์”

มุ่งสร้างประสบการณ์จริง

สำหรับผู้ที่สนใจสายงานด้านนี้ ดร.วิโรจน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ให้คำแนะนำว่าต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์จริง และการนำความรู้ไปใช้ได้จริง ซึ่งทำได้โดยริเริ่มทำโปรเจคต่างๆ และเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้ “บางคนมีความรู้มาก แต่ไม่รู้ว่าจะนำไปใช้จริงเมื่อไร ในชีวิตจริงต้องเริ่มตั้งแต่ จะหาดาต้าอย่างไร เมื่อได้แล้ว จะวางกรอบปัญหาอย่างไรให้ได้โซลูชั่นออกมา

“แนะนำให้เลือกประเด็นในด้านที่สนใจก่อน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ภาพยนตร์ ฟุตบอล  ต้องตั้งคำถามและเริ่มทำงานโปรเจค การเริ่มจากสิ่งที่เราชอบ ดีกว่าจะไปเรียนทฤษฎีโดยไม่มีทิศทาง”

ชารินทร์ พลภาณุมาศ
ชารินทร์ พลภาณุมาศ

ด้าน ชารินทร์ เน้นเรื่องปฏิบัติเช่นเดียวกัน และย้ำถึงความสำคัญของข้อมูล หลักการของศาสตร์ที่เป็นพื้นฐาน ทั้งการตั้งข้อสังเกต การตั้งสมมติฐาน การทดสอบ การให้ผลย้อนกลับ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อทำโปรเจค ใส่ใจกับหลักการก่อนที่จะไปใช้เทคนิคที่ซับซ้อนตามกระแส

ต่อประเด็นเดียวกันในมุมมองของเจ้าของธุรกิจ ชิตพล ซึ่งประสบความสำเร็จจากการนำข้อมูลที่ได้เป็นเชิงลึกมาช่วยต่อยอดธุรกิจ และสร้างกิจการให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของกิจการ แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ก็ควรพูดคุยกับซีอีโอให้มากขึ้น บางทีอาจจะมีช่องว่างระหว่างผู้บริหารอยู่ หรือถ้าเป็นเจ้าของกิจการอยู่แล้ว ก็แนะนำให้พูดคุยกับลูกค้าให้มากขึ้น”