COLUMNISTS

เชื่อมต่อระบบรางพลิกกรุงเทพฯสู่มหานครอันดับโลก!!

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร
546

การเชื่อมต่อคมนาคมระบบราง พลิกกรุงเทพฯ สู่มหานครอันดับโลก?

รถไฟ ขอนแก่น

สภาพการจราจรในกรุงเทพมหานครของเราในเวลานี้ ต้องยอมรับครับว่าติดขัดอย่างสาหัส และแม้ว่าการจราจรที่ติดขัดในปีนี้จะมีสาเหตุมาจากการปิดถนนบางส่วนเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้ามากมายหลายสายในเวลาไล่เลี่ยกัน อย่างไรก็ดี จากการสำรวจของ NIRIX.com ซึ่งได้จัดอันดับสภาพจราจรด้วยการเก็บข้อมูลอินไซต์จากเครือข่ายผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อเครือ GPS จาก 40 ประเทศทั่วโลก พบว่าในปี 2560 กรุงเทพฯ ครองแชมป์เมืองรถติดสุดในเอเชีย และเป็นอันดับ 11 ของโลก เสียเวลาเฉลี่ย 64 ชั่วโมงบนถนน ซึ่งข้อมูลนี้ก็ไม่ได้เกินความคาดหมายของคนไทยและก็ต้องเตรียมการรับมือกันไปอีกหลายปีจนกว่าจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จสมบูรณ์

รถไฟฟ้า บีทีเอส

อย่างไรก็ตามครับ การรอคอยนั้นก็ต้องมีวันสิ้นสุดลง เพราะในปี 2566 เป็นเป้าหมายแห่งความสำเร็จของกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระยะที่ 1 ซึ่งจะทำให้มีเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยาวรวมกันเป็น 464 กิโลเมตร นำไปสู่การเปลี่ยนเมือง ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเคลื่อนไหวด้วยระบบราง ที่เน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึง สะดวก ปลอดภัย ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงคมนาคมระบุว่า จะเพิ่มสัดส่วนผู้ใช้รถไฟฟ้าจากปัจจุบันประมาณ 1 ล้านเที่ยวคน/วัน เป็น 5 ล้านเที่ยวคน/วัน  ขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาวเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 มหานครเซี่ยงไฮ้ ทีมีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาว 588 กิโลเมตร และอันดับ 2 คือกรุงโซล มีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาว 508 กิโลเมตร ถือเป็นการเปลี่ยนเมืองกรุงเทพฯ เป็นมหานครระบบราง สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนในประเทศ ให้เชื่อมต่อจากชานเมือง หรือจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่ศูนย์กลางธุรกิจ และยังรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้อย่างสมบูรณ์

ชิดลม รถไฟฟ้าชิดลม เอ็มบาสซี่ มาแตร์

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมด้วยระบบรางนี้ยังมีความสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปลายปี 2562 โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับความเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า การบริการ และนันทนาการ บริเวณโดยรอบเขตการให้บริการระบบขนส่งมวลชน รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมริมน้ำ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน สายสีเหลือง สายสีน้ำตาลและสายสีชมพู บริเวณฝั่งเหนือของกรุงเทพฯ และการส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมืองเหนือตลาดสะพานใหม่ รวมถึงมีแนวคิดในการพัฒนาเมืองใหม่ๆ ศูนย์กลางธุรกิจย่อย ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับการเดินทางของจังหวัดใกล้เคียง แก้ไขปัญหาจากเดิมที่แต่ละจังหวัดจะมีผังเมืองคนละฉบับและมีทิศทางไม่ตรงกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงผังเมืองในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การเดินทางที่จะเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ หากแต่จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้ สอดคล้องกันทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล