Opinions

อุตสาหกรรม ‘หมู’ ฉายแววสดใส

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight
35358

ขณะที่อุตสาหกรรมหมูทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคระบาด ASF ที่กระจายไปกว่า 34 ประเทศทั่วโลก แต่ “ประเทศไทย” เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ยังคงรักษาสถานภาพการปลอด ASF ได้ หมูไทยจึงเนื้อหอมเป็นที่ต้องการของหลายประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนให้เห็นทิศทางสดใสของอุตสาหกรรมหมู

“ภาครัฐ” จุดเริ่มต้นความสำเร็จ

ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้ประเทศไทยรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศในช่วงวิกฤต ประเทศเรา ไม่ขาดแคลนหมูเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน ที่ขาดแคลนหมูขนาดหนัก ส่งผลให้หมูหน้าฟาร์มของจีนมีราคาสูงถึง 175 บาท/กก. เวียดนาม 104 บาท/กก. และ กัมพูชา 102 บาท/กก. เป็นต้น ขณะที่หมูไทย มีราคาหน้าฟาร์มเพียง 80 บาท/กก. แต่ปัจจุบันยังคงมีปัจจัยรุมเร้าหลายอย่าง จนทำให้ต้นทุนหมูไทยใกล้ถึงกก.ละ 80 บาทแล้ว และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ถ้าไม่ได้ภาครัฐที่มี “วิสัยทัศน์” และ “เข้าใจ” สถานการณ์โลก อย่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์  อาจทำให้อุตสาหกรรมหมูไทยต้องสะดุด ซึ่งต้องขอชื่นชมและขอบคุณแทนเกษตรกรทุกคน

หมู999

 

ทั้งสองกระทรวงถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก มาตรการต่างๆที่ปรากฏเป็นความสำเร็จในการป้องกัน ASF ของประเทศไทย รวมถึง “ความเข้าใจ” ที่เมื่อรู้ว่าหมูไทยเป็นที่ต้องการของนานาประเทศ รัฐจึงให้การส่งเสริมสนับสนุน จากที่หมูเคยเป็นเพียงสินค้าบริโภคภายใน วันนี้สามารถทะยานเป็นสินค้าส่งออกได้ ในปีที่ผ่านมามีการส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% คิดเป็นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาททีเดียว และเชื่อมั่นได้เลยว่าการส่งออกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก … นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ “หมู” จะกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยดังเช่น “ไก่เนื้อ” ที่ไทยประสบความสำเร็จ สามารถส่งออกไปขายทั่วโลกได้ถึงปีละกว่า 9 แสนตัน ทำรายได้เข้าประเทศถึงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และกลายเป็นผู้ส่งออกไก่เนื้ออันดับ 4 ของโลกได้มาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการรักษาสถานภาพปลอดโรค ASF ของไทยยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง แต่กลับพบปัญหาบางประการที่เป็นอุปสรรคไปยังเกษตรกรและผู้ประกอบการฟาร์มหมู

 

หมู2

หมู3

“สินเชื่อ” ต้องมี

เป็นที่ทราบดีว่า โรคระบาด ASF เป็นโรคติดต่อเฉพาะในหมู ที่ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน หากเกิดขึ้นแล้วต้องทำลายหมูทันที ขณะเดียวกันยังมีโรค PRRS ระบาดควบคู่ด้วย ทั้ง 2 โรคน่ากลัวพอกัน เพราะจะทำให้หมูเสียหายหรือตายจำนวนมากหากป้องกันไม่ดี ส่งผลให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก ค่าใช้จ่ายในการป้องกันตามระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม รวมถึงการจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยออกนอกฟาร์ม ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนที่เกษตรกรและผู้ประกอบการฟาร์มหมูต้องแบกรับด้วยตนเอง และไม่ใช่แค่ป้องกันโรคให้หมู เพราะเมื่อโควิด-19เข้ามา ทำให้ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันโรคให้แรงงานทุกคนในฟาร์มเข้าไปอีก

มาตรการทั้งหมดจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการลงทุน “สถาบันการเงิน” จึงเป็นที่พึ่งของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ แต่กลับกลายเป็นว่า ธนาคารหลายแห่ง งดการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ เท่ากับปิดโอกาสการทำธุรกิจของเขาลงอย่างน่าเสียดาย แทนที่จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตและการป้องกันโรค ทั้งๆที่หมูไทยกำลังเป็นที่ต้องการ จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐจะให้ธนาคารทั้งหลายจะพิจารณาให้สินเชื่อในประเด็นนี้ ซึ่งถือเป็นอีกฟันเฟืองที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ หลังมาตรการป้องโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปมาก

“เชื้อโรค” ไม่แยกแยะขนาดฟาร์ม

จริงอยู่… รัฐมีมาตรการชดเชยหมู ที่ต้องถูกกำจัดหากพบโรคระบาด แต่ก็จำกัดที่จะชดเชยให้เฉพาะเกษตรกรรายย่อย โดยลืมไปว่าผู้ประกอบการเลี้ยงหมูมีหลายขนาด ฟาร์มรายย่อย ฟาร์มขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ สายป่านแต่ละรายอาจแตกต่างกัน แต่เชื้อโรคไม่ได้แยกแยะขนาดของฟาร์ม หากคิดจะป้องกันโรคระบาดนี้ให้ได้ประสิทธิผลจริงๆ ควรอุดช่องโหว่ให้หมดทุกทาง เพราะสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อฟาร์มแต่ละแห่งพบหมูที่อาจมีอาการป่วย ต่างก็เร่งปล่อยหมูออกสู่ตลาด ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ หากปล่อยให้มาตรการชดเชยกระจุกอยู่เพียงฟาร์มรายย่อย อาจทำให้การป้องกันโรคที่ทุกฝ่ายมุ่งมั่นมาตลอดมีค่าเท่ากับศูนย์ … ทางที่ดีที่สุด รัฐควรทบทวนมาตรการชดเชยนี้ให้ครอบคลุมเกษตรกรทุกรายทุกขนาด เพื่อรักษาตำแหน่งประเทศไทยให้ปลอด ASF ได้อย่างมั่นใจต่อไป

หมู1

ถึงวันนี้หากรัฐยึดแนวทางตาม “วิสัยทัศน์” และ “ความเข้าใจ” ต่อไป พร้อมๆกับทบทวนเรื่องสินเชื่อและการชดเชยดังกล่าวด้วย ก็น่าจะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการหมูไทยมีแรง-มีกำลังที่จะเดินหน้าและก้าวไปสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ “หมู” เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่สดใสของไทยได้ในที่สุด

โดย สมคิด เรืองณรงค์