Opinions

สิ่งที่ กสทช.ต้องเร่งทำ หลังศาลปกครองคุ้มครองผู้ใช้บริการ

Avatar photo
กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ
3

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปัญหาการใช้ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของ กสทช. ต้องพึ่งศาลปกครองในการหาทางออกให้กับผู้บริโภค

2 ปีก่อนศาลปกครองกลางเคยมีคำสั่งให้คุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่น 900 MHz ของเอไอเอส โดยสามารถใช้บริการได้ต่อไปอีก 30 วัน หลังจากที่ กสทช. สั่งให้สิ้นสุดบริการ จากนั้นจึงมีการใช้ ม. 44 ขยายความคุ้มครองต่อจากนั้นออกไปอีกเกือบ 3 เดือน

ในครั้งนี้ ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติที่ประชุม กสทช. ที่ได้มีมติไม่ให้ “ดีแทค” เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่น 850 MHz เพราะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้ ความหมายของคำสั่งศาลก็คือ ผู้ใช้บริการดีแทคจะสามารถใช้บริการบนคลื่นดังกล่าวได้ต่อไปจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ดีแทค

โดยปกติการสิ้นสุดการคุ้มครองฯ ตามประกาศจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีผู้ใช้บริการคงเหลือในระบบ หรือมีผู้ใช้บริการที่ยังคงค้างในระบบแต่ไม่ปรากฏข้อมูลการใช้งานนานเกิน 6 เดือน หรือมีผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่รายใหม่เป็นผู้ได้สิทธิใช้คลื่น แต่ทั้งหมดนี้ กรอบเวลาขั้นสุดท้ายคือ ระยะเวลาคุ้มครองจะไม่เกิน 1 ปี แต่คดีนี้ในเบื้องต้นศาลปกครองสั่งคุ้มครองผู้ใช้บริการจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2561

คำสั่งศาลปกครองครั้งนี้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ อันรวมถึงประโยชน์ของผู้ใช้บริการที่ยังค้างอยู่ในระบบ ไม่ใช่การปกป้องประโยชน์ของเอกชน แต่เมื่อหลายฝ่ายกังวลว่าดีแทคจะเป็นผู้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว สิ่งที่สำนักงาน กสทช. ต้องดำเนินการอย่างจริงจังก็คือ การตรวจสอบการนำส่งรายได้จากการให้บริการในช่วงคุ้มครองฯ เพื่อนำส่งรัฐให้ครบถ้วนและรวดเร็ว ไม่ปล่อยให้เกิดสภาพคาราคาซังดังกรณีที่ผ่านๆ มา ซึ่งสิ้นสุดมาตรการคุ้มครองฯ หลายปี ตามที่สื่อมวลชนก็เสนอข่าวว่า รัฐยังไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่งตื่นมาเรียกร้องจากเอกชนไม่นานมานี้เอง ส่วนเอกชนก็แก้ต่างว่าขาดทุน และ สตง. มีข้อสังเกตว่า การตรวจสอบการนำส่งรายได้ยังไม่อยู่บนหลักฐานทางบัญชีที่แท้จริงตาม

ประกาศฯ แต่ใช้หลักการปันส่วนจากการคำนวณแทน ในขณะที่รัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทานเดิมได้ผลตอบแทนในช่วงมาตรการคุ้มครองฯ ต่ำจนเหลือเชื่อ จนมีข่าวว่าผู้บริหารรัฐวิสาหกิจบางรายเปรียบเทียบว่า เงินที่ได้รับมานั้นน้อยกว่าค่ารถประจำตำแหน่งของ กสทช. เสียอีก จึงทำให้หลายฝ่ายเชื่อกันไปแล้วว่า โดยเแท้จริงแล้ว เอกชนนั่นเองที่เป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากมาตรการคุ้มครองฯ จนเกิดความกังวลและไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยว่า เอกชนใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกันแล้วไม่ยอมจ่ายเงินให้รัฐแม้แต่บาทเดียว

ในอีกด้านหนึ่ง หากเกรงว่าเอกชนจะเป็นผู้ตักตวงผลประโยชน์จากมาตรการคุ้มครองฯ กสทช. ก็ต้องทำให้ระยะเวลาคุ้มครองสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยเวลาจนถึงวันที่ 15 ธันวาคมตามคำสั่งศาลปกครองแล้วจึงคิดจะทำอะไร สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบและเร่งย้ายค่ายในกรณีหากประสงค์จะใช้เบอร์เดิม หรือหาเบอร์ใหม่ค่ายใหม่มารองรับ

แต่อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการคุ้มครองที่ผ่านมา แม้เวลาคุ้มครองจะนานเกิน 2 ปีด้วยอำนาจ ม.44 แต่สุดท้ายทุกระบบก็ยังมีผู้ใช้บริการที่ยังคงค้างและต้องดับซิมอยู่ดี จึงเป็นไปได้ยากว่า ในครั้งนี้ผู้บริโภคจะย้ายค่ายออกหมดก่อนวันที่ 15 ธันวาคมนี้

ดังนั้น ทางที่ทำได้และควรทำอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง ก็คือการเร่งประมูลคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz นี้ โดยเมื่อมีผู้ชนะการประมูลและนำเงินมาชำระแล้ว กสทช. ก็สามารถกำหนดวันสิ้นสุดการคุ้มครองฯ ได้ตามประกาศ ซึ่งระยะเวลาน่าจะสอดรับกับคำสั่งของศาลปกครอง

นี่เป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นจริงๆ กับการสิ้นสุดการคุ้มครองที่ผ่านมาแล้วทุกกรณี จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กสทช. ต้องเร่งประมูลคลื่นความถี่ให้สำเร็จ

ไม่ว่าผู้ชนะการประมูลจะเป็นใคร ใช่ค่ายเดิมหรือไม่ก็ตาม กสทช. ก็สามารถกำหนดวันสิ้นสุดการคุ้มครองได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และที่สำคัญคือจะมีการนำคลื่นไปใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะในระหว่างการคุ้มครอง เจตนาคือให้ดูแลลูกค้าเก่า ห้ามรับลูกค้าใหม่ แต่หากมีผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะก็สามารถนำคลื่นนี้ไปให้บริการผู้ใช้บริการทั้งรายเก่าและรายใหม่ได้อย่างเต็มที่

สำนักงาน กสทช. ยอมรับว่า ประเทศไทยมีคลื่นความถี่ใช้งานน้อยกว่าหลายประเทศ ซึ่งย่อมส่งผลให้คุณภาพบริการด้อยกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแง่ของความเร็วของบริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ เนื่องจากชาวไทยบริโภคบริการออนไลน์มากติดอันดับโลก แต่มีคลื่นน้อยกว่าประเทศอื่น ก็เสมือนมีรถยนต์ปริมาณมหาศาล แต่ถนนมีน้อย รถก็ย่อมติดนั่นเอง

ถ้าประมูลคลื่นความถี่ไม่หมด แปลว่าคลื่นเดิมที่เคยให้บริการภายใต้สัญญาสัมปทานถูก กสทช. เก็บไว้ แม้ผู้บริโภคจะย้ายไปใช้ค่ายอื่น ก็ไม่ต่างจากการที่ กสทช. ลดพื้นที่ผิวการจราจรลง และโบกรถให้เลี่ยงใช้เส้นทางอื่น เนื่องจากรถมีเท่าเดิม แต่ถนนน้อยลง เส้นทางอื่นก็จะรถติดมากขึ้นอยู่ดี

ดังนั้น หากจัดสรรคลื่นความถี่ไม่สำเร็จ ผู้ใช้บริการของค่ายอื่นๆ ก็จะประสบชะตากรรมเดียวกัน คือมีปริมาณการใช้งานในแต่ละค่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่คลื่นของแต่ละค่ายเท่าเดิม ความเร็วเฉลี่ยของอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของแต่ละค่ายก็จะลดลงอย่างปฏิเสธไม่ได้

การเร่งจัดสรรคลื่นความถี่เก่าเพื่อคืนพื้นที่ผิวการจราจรให้กับผู้ใช้งานมือถือเมืองไทยเป็นสิ่งที่ กสทช. จำเป็นต้องทำ แต่ดีแทคเองก็ควรต้องแสดงความจริงใจตามที่ได้แถลงไว้ต่อศาลว่า ยินดีจะเข้าร่วมประมูลเพื่อจะได้มีคลื่นความถี่ย่านต่ำ ซึ่งสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมและอย่างทั่วถึง ไม่เช่นนั้นหลายฝ่ายก็จะสรุปว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงการใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกันจริงๆ และหากไม่มีคลื่นความถี่ย่านต่ำ คุณภาพบริการของค่ายตนเองจะแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างไร สุดท้ายผู้บริโภคนอกจากจะเป็นตัวประกัน ยังจะกลายเป็นผู้รับผลกรรมอีกด้วย

คำสั่งศาลปกครองในครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานการปกป้องผู้บริโภคและปกป้องการแข่งขันในอุตสาหกรรมมือถืออย่างแท้จริง ทุกฝ่ายไม่ควรไปคิดว่า ใครเป็นฝ่ายแพ้ ใครเป็นฝ่ายชนะ และจะทำอย่างไรให้ฝ่ายตรงข้ามแพ้ให้ได้ แต่ทุกฝ่ายควรต้องมองและเคารพเจตนารมณ์ของกฎหมายและเจตนารมณ์ของศาลปกครอง ซึ่งมุ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

ทุกฝ่ายควรต้องลงมือทำหน้าที่ของตนเองอย่างจริงจังและลงมือทำให้เร็วที่สุด เพราะศาลปกครองได้นำทุกฝ่ายออกจากสถานการณ์ที่ต่างล้วนก่อกำแพงล้อมตัวเองจนไม่มีทางออก บัดนี้ กุญแจทางออกได้ถูกเปิดแล้ว

การประมูลคลื่นความถี่ที่เป็นธรรมคือทางออก หรือเรายังจะดื้อรั้นดิ้นรนวนกลับไปหาทางตันกันอีก