Opinions

ชะตาเศรษฐกิจไทย ในมือ ‘ทีมใหม่’ ?

Avatar photo
1339

“ผมอยากจะพูดถึงสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาให้ได้โดยเร็ว” ประโยคสำคัญในการแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 17 มิถุนายน 2563 ในเรื่องวิธีการทำงานแบบนิวนอร์มอล (New Normal) ของรัฐบาลแปลความได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีปัญหาหนัก ต้องเร่งแก้ไข

พิษ “โควิด-19” ระบาดหนักไปยังเศรษฐกิจทั้งโลก  แม้ขณะนี้สถานการณ์โรคในประเทศไทยจะคลี่คลายลงมาก แต่เศรษฐกิจไทยกลับสวนทาง  ดิ่งลงจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลต่อประชาชน และทุกภาคส่วน

แต่ละวัน ต่างเฝ้าลุ้น เฝ้ารอ มาตรการและแนวนโยบายในการฟื้นฟูจากรัฐบาลที่กำลังอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยน “ทีมเศรษฐกิจใหม่”

เศรษฐกิจ02

เมื่อย้อนไปในอดีตไม่นานนัก หลายครั้งที่เกิดวิกฤตถึงขั้นที่เศรษฐกิจอาจล้มได้ รัฐบาลจะมีความสามารถในการจัดการ จนพ้นออกจากวิกฤตได้เสมอ อย่างเช่น ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ที่เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ จนรัฐบาลต้องใช้ยาแรง “ลอยตัวค่าเงินบาท” ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวสูงขึ้น เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ จนเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับได้ในเวลาไม่นาน

หรือกรณีที่มีต้นเหตุมาจากวิกฤตน้ำมัน จนเกิดการขาดดุลการค้า และบัญชีเดินสะพัดสูง ระหว่างปี 2524-2528 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจลดค่าเงินบาทลง 14.8% ทำให้เศรษฐกิจรอดพ้นออกจากวิกฤต ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง และโครงการ Eastern Seaboard ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

แน่นอนว่า วิกฤตเศรษฐกิจในอดีต ไม่อาจเปรียบเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เข้าขั้นวิกฤตของไทยในปัจจุบันได้ เพราะปัจจัยแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาย่อมต่างกัน และยิ่งในระยะหลัง เทคโนโลยีก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วมาก

ดังนั้น “ทีมเศรษฐกิจใหม่” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกคัดสรรมาทดแทนทีมเก่า ก็จะเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ สังคมกำลังจับจ้องว่า ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล จะมีแนวทางในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาโดยเร็วได้อย่างไร

ครม222

จากที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ ผมมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 3 ประเด็น คือ

1. คุณสมบัติของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

นอกจากจะต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ โปร่งใส และรักษาผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้บริหารราชการแผ่นดินอยู่แล้ว แต่คุณสมบัติสำคัญอีกประการ คือ มีทักษะพิเศษที่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อน (Complex problem-solving) ในยุคใหม่ได้ด้วย ไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างเดียว แต่มีองค์ความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์อื่นๆ ที่เป็นพื้นฐานด้วย อย่างเช่น ด้านเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีสมัยใหม่ การต่างประเทศ และภูมิรัฐศาสตร์

2. แนวนโยบายเศรษฐกิจใหม่

เพื่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจควรมีความชัดเจนตรงเป้า ซึ่งอาจประกอบด้วยหลายมาตรการ หรือโครงการ ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะปานกลาง และคู่ขนานกับนโยบายใหม่นี้ ควรวางแนวทาง “การปฏิรูปเศรษฐกิจเฉพาะด้าน” ที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับนิวนอร์มอล ไปในโอกาสเดียวกันด้วย แต่การปฏิรูปนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิรูปประเทศ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ

แน่นอนว่า การปฏิรูปจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยภาวะผู้นำสูง และทีมเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ หรือ Charismatic Reformer ที่กล้าทำ กล้าตัดสินใจ ในเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อบางภาคส่วน แต่เป็นผลดีต่อส่วนรวม

3. ทีมเศรษฐกิจต้องเป็นเอกภาพ

ในขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่า ทีมเศรษฐกิจใหม่จะประกอบด้วยใครบ้าง และกระทรวงเศรษฐกิจใดบ้าง ที่จะเป็นกลุ่มกระทรวงเป้าหมายของการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Planning) ว่า ในแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มการผลิต SME เกษตร แรงงาน หรือท่องเที่ยว จะเน้นประเภทของธุรกิจใดก่อนหลัง เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง และใช้งบประมาณ และเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้วิกฤตการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยทรุดลงกว่าเดิม ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล จึงเป็นที่คาดหวังจากประชาชนและภาคเอกชน ทั้ง “คุณสมบัติ” และ “ศักยภาพ” ที่จะเข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว โดยเฉพาะแนวนโยบายใหม่ หรือมาตรการต่างๆ ที่จะเป็นการปฏิรูป เพื่อรองรับ New Normal อย่างที่นายกรัฐมนตรีก็คาดหวังไว้เช่นกันว่า วิกฤตครั้งนี้ จะช่วยให้เราเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศ ให้ประเทศไทยก้าวเดินออกจากหายนะโควิด ไปเป็นประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม

“นี่คือเวลาที่โลกเปลี่ยน และเราจะต้องเปลี่ยนด้วย” คำมั่น ที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ ดังนั้น “ทีมเศรษฐกิจใหม่” ของรัฐบาล ก็จะยิ่งสำคัญในระดับที่ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทยได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต