Opinions

3 วิธีปรับงบใหม่ ‘เปลี่ยนวิธีคิด – มีหลักประกันฝ่าวิกฤติ-ทุกคนต้องรอด’

Avatar photo

วันนี้ (1 ก.ค.) ผมได้อภิปรายในวาระด่วน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จากการอภิปรายงบประมาณปี พ.ศ. 2563 ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมากครับ

หรือจากวันที่อภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ ก็มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในภาพรวมไปแล้วหลายเรื่อง ซึ่งพบว่ามีสัญญาณรุนแรงกว่าที่คิดไว้มาก..!!

IMF ได้เตือนภัยไว้ 3 ประการ ว่า

  • เป็นมหาวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
  • การฟื้นตัวมีความไม่แน่นอนสูง
  • SMEs และผู้มีรายได้น้อยกระทบมากที่สุด

ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าว ยังไม่ได้ครอบคลุมในกรณีการระบาดของไวรัสโควิดระลอกสองด้วยซ้ำ ซึ่งในการอภิปรายงบประมาณฯ ครั้งก่อน ผมก็ได้กล่าวถึงปัญหาที่รุมเร้าจากภายนอก ซึ่งในวันนี้ ปัญหาจะแรงกว่าเดิมเพราะโควิดที่มาซ้ำเติม และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

ประชุมสภา

ในการจัดสรรงบประมาณแต่ละปี จะต้องมีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่เอกสารงบประมาณปี 2564 ใช้สมมติฐานการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ -5.5%

แต่เมื่อมองไปที่สถาบันอื่นๆ จะพบว่า มีการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจในแง่ลบกว่ามาก โดยล่าสุด ธปท. ได้ปรับลด GDP ของไทยในปี 2563 ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงจาก -5.3% เป็น -8.1% แล้ว..!!

นี่จึงถือว่าเป็นความเสี่ยง ที่จะกระทบในการบริหารจัดการงบประมาณได้ครับ เพราะหากมองบวกเกินไป จะทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ตามเอกสารงบประมาณ ทำให้สัดส่วนเงินกู้สูงขึ้น ทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่ตอบโจทย์ ขณะที่เกิดวิกฤติรุนแรงมาก แต่รัฐจัดสรรงบประมาณแบบปกติ ซึ่งจะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเยียวยาอ่อนแรงลง หรือหมดระยะเวลาในการช่วยเหลือ

ปัญหาเร่งด่วนของประชาชนก็ยังคงมีอยู่ ทั้งเรื่องรายได้ลดลง ของแพงขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้น มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น รายได้ครัวเรือนลดลงอีกในหลายจังหวัด แต่ทั้งหมดยังถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด

ดังนั้น หากเป้าหมายของรัฐบาล และการจัดสรรงบประมาณ คือการปลดทุกข์ของชาวบ้านแล้ว ก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาทันทีครับ ซึ่งสิ่งที่สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ก็คือ

  • ต้นทุนพลังงาน

ณ วันนี้ ราคากำไรของค่าการกลั่น พุ่งสูงขึ้นถึง 421% แล้ว หากจัดการเรื่องนี้จะทำให้ค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าน้ำมันลดลงทันที ล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้

82945837 10157294975361935 7422530291998005624 o

  • ส่วนต่างดอกเบี้ย ระหว่างเงินฝาก กับเงินกู้

ณ วันนี้ ประเทศไทยมีส่วนต่างดอกเบี้ย สูงถึง 6.1% แล้ว สูงมากเมื่อเทียบกับของประเทศอื่นๆ

ในส่วนของ เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ใน พ.ร.บ.เงินกู้ 3 ฉบับ ก็ต้องเรียนว่า กลุ่มคนที่เจ็บตัวที่สุดในวันนี้ คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่มาตรการเงินกู้ Soft loan กลับไปถึงภาคท่องเที่ยวน้อยกว่า 5% ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ..???

ในการอภิปรายผมได้เสนอแนะการแก้ปัญหาไว้หลายกรณีด้วยกัน

  • การช่วยเหลือ SMEs ไม่ให้ล้มละลาย

ด้วยการ ปรับเงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ต้องให้ถึงมือ SMEs ที่ประสบปัญหาจริง – ตั้งกองทุนเพิ่มทุน – เปลี่ยนบทบาท SME Bank และ EXIM Bank ให้เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Packing Credits)

  • ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

ต้องมีการเตรียมมาตรการระยะกลาง และระยะยาว หลังจากที่มาตรการเยียวยาครบกำหนด

  • เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ด้วยการจัดงบวิจัยพัฒนาให้ได้ 2% ของ GDP – ก่อสร้างขนส่งระบบรางให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 50% ภายใน 4 ปี เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง – ร่วมมือกับเอกชนทำกองทุนร่วมทุน (Matching Fund)

  • ตั้งเป้าหมายให้กลุ่มท่องเที่ยว ต้องไม่ตาย-ไม่ให้ถูกฉวยโอกาส และเมื่อเศรษฐกิจฟื้น ต้องฟื้นตัวได้เร็ว

เพื่อเป็นการดึงรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวให้ไปชดเชยบางส่วนของรายได้ที่มาจากต่างประเทศ

  • วิธีการแก้ปัญหาท่องเที่ยว ต้องปรับเงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ – ยืดหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้/ใช้กองทุนเพิ่มทุน/เพิ่มงบ “ไทยเที่ยวไทย”

การจัดสรรงบครั้งนี้เหมือนไฟไหม้บ้านอยู่แล้วครับ แต่จัดงบเพื่อแต่งสวน มันไม่พอ จริงๆ แล้วมันผิดภารกิจอย่างมาก ขอให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ปรับงบให้ตรงกับเป้าหมาย ปรับงบให้ตรงกับปัญหา ใช้งบที่มีอยู่น้อยให้ได้ผลมาก ร่วมมือเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มเครื่องมือใหม่พัฒนาเศรษฐกิจ และสะสางปัญหาคอร์รัปชั่น

สุดท้ายนี้ ผมขอเสนอแนะ 3 ข้อปรับปรุงงบประมาณครับ

  1. โลกเปลี่ยน วิธีคิดต้องเปลี่ยน
  2. ต้องให้หลักประกันกับประชาชนว่า การจัดงบประมาณครั้งนี้ ต้องฝ่าวิกฤตได้แน่ๆ
  3. ทุกคนต้องรอด ไม่ใช่บางคนรวย
kt removebg preview
เกียรติ สิทธีอมร
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม